บุกค้นโกดังทุนจีนเทา ซุกวัตถุอันตราย น้ำยาทำความสะอาด-เครื่องสำอางเถื่อน


ตำรวจสอบสวนกลางบุกค้นโกดังซุกวัตถุอันตราย น้ำยาทำความสะอาดใช้ในครัวเรือน-เครื่องสำอางเถื่อน ลักลอบนำเข้า เตรียมส่งขายผู้บริโภค ยึดของกลางกว่า 4 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นโกดังซุกซ่อนวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่งขายผู้บริโภคในประเทศไทย ตรวจยึด อายัด วัตถุอันตรายใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาขจัดท่อตัน และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง จำนวน 413,746 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางกว่า 20,000,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจยึด นำโดย พ.ต.ท.รุตินันท์ สัตยาชัย สว.กก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
สืบเนื่องจากปรากฏข่าว “พบมีผู้เสียชีวิตซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการสูดดมก๊าซพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ” และ อย.ได้มีข่าวเตือนประชาสัมพันธ์ให้ใช้ผลิตภัณฑ์แก้ไขท่อตันที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง อย่าใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อื่น อันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่ไม่ขึ้นทะเบียน ฉลากไม่ระบุชื่อและที่อยู่ผู้ผลิตเรื่อยมาประกอบกับ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่แสดงฉลากภาษาไทย จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ในพื้นที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่จัดเก็บสินค้า จัดส่งสินค้าที่โกดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยขณะนำหมายค้นเข้าตรวจค้น พบแรงงานประเทศเพื่อนบ้านกำลังบรรจุสินค้าลงกล่องพัสดุ เพื่อส่งต่อให้กับลูกค้า ตรวจยึดของกลาง ได้แก่
1. วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ยี่ห้อ SEAWAYS ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ทำความสะอาดพื้น, ขจัดคราบสกปรก, ทำความสะอาดอเนกประสงค์, ล้างเครื่องซักผ้า, ขจัดท่ออุดตัน,
ทำความสะอาดห้องครัว, ทำความสะอาดห้องน้ำ และกำจัดเชื้อราในครัวเรือน รวม 393,027 ชิ้น
2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ได้แก่ ครีมบำรุงผิว และป้องกันแสงแดด จำนวนรวม 20,719 ชิ้น
รวมตรวจยึดและอายัดของกลาง จำนวน 413,746 ชิ้น มูลค่ากว่า 20,000,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี
จากการสอบถาม นางสาว อุทุมวัลย์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของสถานที่รับว่าสินค้าที่เจ้าหน้าที่พบและตรวจยึด เป็นของลูกค้าต่างชาติมีโดยบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ประเทศจีนเป็นผู้ว่าจ้าง เช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านสื่อออนไลน์ โดยร้านค้าจะเป็นของคนจีน เปิดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเมื่อลูกค้าคนไทยสั่งซื้อสินค้า ข้อมูลการสั่งซื้อจะส่งไปที่ร้านค้าที่อยู่ที่ประเทศจีน จากนั้นร้านค้าจะส่งข้อมูลลูกค้า พร้อมสถานที่จัดส่ง เข้ามาในระบบ โดยโกดังไม่ทราบว่ามีร้านค้าใดบ้าง จากนั้นพนักงานโกดังจะพิมพ์ข้อมูลลูกค้า พร้อมสินค้า นำมาบรรจุลงกล่อง นำส่งผู้ซื้อ มียอดในการส่งแต่ละวัน ประมาณ 7,000 – 9,000 ชิ้น ได้ค่าจ้างเป็นค่าบรรจุสินค้าในราคาชิ้นละ 5 – 7 บาท โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี
จากการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ยี่ห้อ SEAWAYS พบทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่แจ้งข้อเท็จจริง ไม่ขึ้นทะเบียน และบางรายการมีการยื่นคำขอจดทะเบียน แต่ไม่พบข้อมูลการนำเข้า ผ่านด่าน อย. แต่อย่างใด โดยผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายนี้ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทั้งการผลิต นำเข้า หรือครอบครอง เนื่องจากบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ของกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงปัจจุบัน ของบริษัทผู้ขออนุญาตนำเข้าไม่พบข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
ฐาน “มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายไม่แจ้งข้อเท็จจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ฐาน “มีไว้ในครองครองวัตถุอันตรายที่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ฐาน “ขายวัตถุอันตรายที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558
ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง”โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฐาน “นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง” โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นพ. รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จากการตรวจสอบแหล่งลักลอบขายวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ไม่จดแจ้งข้อเท็จจริง ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่แสดงฉลากภาษาไทย และเครื่องสำอาง ไม่จดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ซึ่งพบของกลางเป็นจำนวนมาก การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการจับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ที่มีการลักลอบนำเข้าที่ผิดกฎหมาย จึงขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางสื่อออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย ที่แสดงเลขแจ้งข้อเท็จจริงหรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย อย่างถูกต้อง
โดยให้สังเกตที่ฉลาก ต้องมีเลขทะเบียน อย. วอส. และเครื่องสำอางต้องมีฉลากภาษาไทย มีเลขจดแจ้ง และไม่หลงชื่อคำโฆษณาที่กล่าวอ้างเป็นเท็จหลอกลวงว่าเป็นสินค้านำเข้าและมีราคาถูกเกินกว่าปกติ กล่าวอ้างซื้อตัดล็อต หรือเป็นของแท้จากต่างประเทศ ไม่เสียภาษีจึงราคาถูก เป็นต้น ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอมของไม่มีคุณภาพ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนอาจได้รับสารระเหยก่อให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง หรือเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจได้ และเครื่องสำอางใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ หน้าพังได้ ฉะนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ และขอเตือนผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่าย ต้องมีความปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายหากพบเห็นการกระทำความผิดจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที