ครัวเรือนไทยหนี้ทะลุ 14 ล้านล้าน จับตาจ่ายไม่ไหว ดันยอด “หนี้เสีย” พุ่ง!

ครัวเรือนไทยหนี้ทะลุ 14 ล้านล้าน

ครัวเรือนไทยหนี้ทะลุ 14 ล้านล้าน จับตาจ่ายไม่ไหว ดันยอด “หนี้เสีย” พุ่ง!





ad1


- ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 นอกจากปัญหาทางสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน “ปัญหาเศรษฐกิจ” ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งต่อการอยู่รอด ของคนไทยทั้งประเทศเช่นกัน 
.
ล่าสุด “สภาพัฒน์” เปิดรายงาน “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2564” ชี้ว่าในด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ต้องเฝ้าระวังการเกิด NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในระยะถัดไป “หนี้สินครัวเรือน” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหา “ภาระค่าครองชีพ” ที่ปรับสูงขึ้น ตามราคาสินค้า จะกระทบหนักต่อกลุ่มลูกจ้างค่าแรงขั้นต่ำ
.
▪️ แนวโน้มหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ไตรมาส 3 ปี 2564 “หนี้สินครัวเรือนไทย” มีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.2 ชะลอลงจาก ร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกประเภทสินเชื่อ ส่วน “หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือหนี้เสีย NPLs มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ ร้อยละ 2.89 ลดลงจากร้อยละ 2.92 ในไตรมาสที่ผ่านมา 
.
อย่างไรก็ตาม ‘น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์’ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อค้างชําระไม่เกิน 3 เดือน ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอีก อาจส่งผลหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้
.
▪️ กลุ่มรายได้สูงยังก่อหนี้เพิ่ม - กลุ่มรายได้ต่ำ “ต้องการกู้เงิน” ชดเชยสภาพคล่อง
.
นอกจากนี้ ในระยะถัดไปคาดว่า “หนี้สินครัวเรือน” จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 

1 - ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

2 - กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว
.
“สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพื่อบรรเทาผลกระทบต้องให้ความสำคัญอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1. เร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ 2. ส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และ 3. ส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สศช. กล่าว
.
▪️ วัยแรงงานต้องหาเงินเลี้ยง “ตัวเอง - เด็ก - ผู้สูงอายุ” 7.7 ล้านบาท!
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากปัจจัยข้างต้นที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง โดยจากมุมมองของบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) เผยผลการศึกษาในปี 2562 พบว่า ภาพรวมคนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (ขาดดุลรายได้) คิดเป็นมูลค่าถึง 2.04 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 3 หมื่นบาท/คน และแนวโน้มที่จะขาดดุลรายได้มากขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.16 ล้านล้านบาท ในปี 2566 และ 2.57 ล้านล้านบาท ในปี 2576 ขณะที่การออมของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ
.
ที่สำคัญการเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจหดตัว โดยเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 0.5 ต่อปี ในขณะที่วัยแรงงานต้องหารายได้ เพื่อดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และตนเอง คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง