สำรวจพบ 89% รถไม่หยุดให้คนข้าม! จุดที่ ‘หมอกระต่าย’ ถูกชน ไม่จอดถึง 94%

สำรวจทางม้าลายพบ 89% รถไม่จอดให้คนข้าม

สำรวจพบ 89% รถไม่หยุดให้คนข้าม! จุดที่ ‘หมอกระต่าย’ ถูกชน ไม่จอดถึง 94%





ad1

สำรวจพบ 89% รถไม่หยุดให้คนข้าม! จุดที่ ‘หมอกระต่าย’ ถูกชน ไม่จอดถึง 94%
.
สสส. ร่วมกับ “มูลนิธิไทยโรดส์” (ThaiRoads Foundation) สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางข้ามม้าลาย ในเขต กทม. 12 จุด ได้แก่ 1. บิ๊กซีสะพานควาย 2. ออลซีซั่นเพลส 3. พหลโยธินซอย 19 4. ประดิพัทธ์ซอย 19 5. สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ 6. สุขุมวิทซอย 33 7. สุขุมวิทซอย 21 8. ตลาดยิ่งเจริญ 9. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 10. เอกมัยซอย 2 11. ลาดหญ้าซอย 3 และ 12. โรงพยาบาลราชวิถี 
.
ทั้ง 12 จุดทางข้ามม้าลายมีลักษณะคล้ายกับจุดที่ ‘หมอกระต่าย’ ถูกบิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นถนน 4-6 ช่องจราจรแบบไปกลับ อยู่ห่างจากแยกสัญญาณไฟจราจร มีเครื่องหมายทางม้าลาย ป้ายเตือน และไม่มีสัญญาณไฟจราจรกดปุ่มสำหรับคนเดินข้าม
.
จากการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค. 2565 แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 6,449 คัน รถยนต์ 7,619 คัน และรถโดยสาร 285 คัน รวม 14,353 คัน พบว่า 89% ไม่หยุดรถเมื่อมีคนมายืนรอเพื่อข้ามถนน มีเพียง 11% ที่หยุดรถ รายละเอียด ดังนี้

▪️ รถจักรยานยนต์ - ไม่หยุดให้คนข้ามมากที่สุดถึง 92% ที่หยุดให้คนข้าม คิดเป็นสัดส่วน 8% เท่านั้น 

▪️ รถยนต์ - ไม่หยุดรถ 86% 

▪️ รถโดยสาร - ไม่หยุดรถ 80% 
.
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ทางม้าลายบริเวณสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จุดที่หมอกระต่ายถูกชนขณะเดินข้าม มีรถไม่หยุดให้คนข้ามมากถึง 94% ทั้งที่เกิดเหตุหมอกระต่ายถูกชนบริเวณดังกล่าวได้เพียงไม่นาน 
.
‘น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ’ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นงานบูรณาการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน มีการบริหารจัดการโครงสร้างกลไกระบบต่างๆให้มีความเข้มแข็ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง สำคัญอย่างยิ่ง คือ การปฏิบัติตามกฎหมายจราจร การมีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย เช่น ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย 
.
“กรณีอุบัติเหตุคุณหมอกระต่าย เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้ขับขี่รถควรระวัง ที่สำคัญต้องชะลอความเร็วรถ เมื่อถึงบริเวณทางข้ามม้าลายที่มีคนข้ามถนน ให้ทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าที่ใช้ถนนร่วมกัน และคนข้ามมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย และคนข้ามถนนบนทางม้าลายก็ต้องคอยระมัดระวังดูให้แน่ใจแล้วจึงข้าม เพื่อลดความสูญเสียและลดอุบัติเหตุบนทางเท้าไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว