“ปลากระป๋อง” ขอขึ้นราคา 2 บาท หลังต้นทุนพุ่ง ทั้งพลังงานทุกชนิด กระป๋อง เหล็ก น้ำมันพืช ซอส ปลา ค่าขนส่ง ฯลฯ 

“ปลากระป๋อง” ขอขึ้นราคา 2 บาท

“ปลากระป๋อง” ขอขึ้นราคา 2 บาท หลังต้นทุนพุ่ง ทั้งพลังงานทุกชนิด กระป๋อง เหล็ก น้ำมันพืช ซอส ปลา ค่าขนส่ง ฯลฯ 





ad1

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ "ซูเปอร์ ซีเชฟ" เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าทุกอย่างที่เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งพลังงานทุกชนิด กระป๋อง แผ่นเหล็ก น้ำมันพืช ซอสมะเขือเทศ ปลา ค่าขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท ต่างปรับราคาขึ้นตั้งแต่ 20-50% ส่วนถ่านหิน ปรับขึ้น 100% ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องขอขึ้นราคาสินค้าอย่างน้อย 20% แต่เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อของผู้บริโภค เชื่อว่าคงปรับขึ้นขนาดนั้นไม่ได้ จึงขอปรับที่กระป๋องละ 2 บาท

นายอมรพันธุ์ ยังเทียบต้นทุนเฉลี่ยการผลิตปลากระป๋องไตรมาส 1/2565 กับต้นทุนเฉลี่ยทั้งปี 2564 ว่า เพิ่มขึ้นถึง 12% แยกเป็นต้นทุนปลาซาร์ดีน 9% อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาท ต้นทุนกระป๋อง 3.26-3.71 บาท หรือ 14% การนำเข้าซอสมะเขือเทศ 26% และค่าพลังงาน 100% ซึ่งการที่ต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้กำไรต่อกระป๋องลดลง ยังไม่รวมผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงถึง 33-34 บาท และความไม่แน่นอนในครึ่งปีหลังนี้ เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ และราคาเหล็กที่อาจปรับราคาขึ้นอีก 

ด้านนายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋อง "โรซ่า" กล่าวในทำนองเดียวกัน ถึงปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ โดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15% จากเมื่อช่วงต้นปีที่เพิ่มขึ้น 6-7% โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋อง ที่แจ้งล่าสุดว่า จะขึ้นราคาอีก

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจุบันราคากระป๋องมีแนวโน้มปรับขึ้น ขณะที่ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) แผ่นเหล็ก (ทินเพลตและทินฟรี) 6 เดือน จะครบกำหนดในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ และยังไม่ได้รับแจ้งจากกรมการค้าต่างประเทศว่า จะขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือนหรือไม่ ยังต้องรอผลการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ ทตอ.ก่อน 

สำหรับสถานการณ์ราคาแผ่นเหล็กที่ใช้ทำกระป๋อง เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการนำเข้าแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก (Tin Plate) หรือเหล็กวิลาส กับแผ่นเหล็กทินฟรี (Tin Free steel) จำนวน 7,000 ตัน พบว่าราคานำเข้าขยับขึ้นไปถึงตันละ 1,500-1,600 เหรียญ จากเดิมที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาอยู่ที่ 900-960 เหรียญ/ตัน