ไทยแจง UN เคารพเสรีภาพในการชุมนุม - รับฟังเยาวชน

ไทยแจงยูเอ็นเคารพเสรีภาพการชุมนุม

ไทยแจง UN เคารพเสรีภาพในการชุมนุม - รับฟังเยาวชน





ad1

ไทยแจง UN เคารพเสรีภาพในการชุมนุม - รับฟังเยาวชน
.
คณะผู้แทนไทยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ หรือ Universal Periodic Reviews(UPR) โดยในตอนหนึ่งของถ้อยแถลง ยืนยันว่ารัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเห็นความสำคัญของการรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่
.
วันที่ 10 พ.ย. 64 คณะผู้แทนประเทศไทย นำโดยนายธานี ทองภักดี เข้าร่วมกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ หรือ UPR ที่สำนักงานสหประชาชาติประจำเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยนายธานีได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมในส่วนของประเทศไทย นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ของประเทศ โดยตอนหนึ่งของถ้อยแถลงได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม ความว่า
.
“ในด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง รัฐบาลไทยยังคงให้ความเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ โดยรัฐบาลตระหนักว่ายังมีความท้าทายบางประการบังคับใช้จริง อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการแสดงออกนั้นต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม รวมถึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย
.
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พยายามรองรับทุกการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องการปฏิรูปและแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด โดยจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วนของสังคม เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศ รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาหรือที่พวกเขามีความสนใจให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เราจะทำงานให้มากขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่การพูดคุยระหว่างวัย ให้คนต่างวัยสามารถเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่สร้างสรรค์และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ”
.
สำหรับกระบวนการ UPR เป็นกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองนำเสนอต่อที่ประชุม ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็จะจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นได้รับทราบข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ด้าน และนำไปประกอบข้อเสนอแนะที่ประเทศสมาชิกชาติอื่นๆ มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลประเทศที่เข้ารับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
.
สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้เข้าร่วมการทบทวนสถานการณ์ฯ มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2554 และ 2559 ส่วนปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมการทบทวนฯ โดยข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิกที่มีต่อรัฐบาลไทย มีทั้งประเด็นกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย, การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112), การดำเนินคดีกับผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง, เสรีภาพในการชุมนุม รวมไปถึงเรื่องการยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต และการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ