กลุ่มสหภาพคนงานและหลากกลุ่มแรงงาน แถลงค่าแรงขั้นต่ำต้องมากกว่า 600 -ไม่เห้นด้วยกับการกำหนดค่าแรงจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก

กลุ่มสหภาพแรงงานหลากกลุ่มแถลง

กลุ่มสหภาพคนงานและหลากกลุ่มแรงงาน แถลงค่าแรงขั้นต่ำต้องมากกว่า 600 -ไม่เห้นด้วยกับการกำหนดค่าแรงจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก





ad1

11 ธ.ค. 2565   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพคนทำงาน, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้แถลงจุดยืนร่วมขององค์กรว่าด้วย #ค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้  โดยมีข้อแถลงว่า
.
[แถลงการณ์แรงงานว่าด้วยประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ]
.
เนื่องในวันที่ 7 ธ.ค. 65 ทางพรรคเพื่อไทยได้มีการจัดการแถลงหลากหลายนโยบายของพรรคในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ หนึ่งในนโยบายที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานรอบข้างเป็นอย่างมากคือนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท” (หรือในบางแถลงจะให้รายละเอียดเพิ่มว่า 600–700 บาทต่อวัน ภายในปี 2570) ซึ่งแน่นอนว่าได้กลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง พวกเรา สหภาพคนทำงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่าด้วยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 3 ข้อดังนี้
.
ข้อที่ 1. จากการสำรวจความคิดเห็นสมาชิกโดยคร่าวในกลุ่มสมาชิกสหภาพคนทำงานในวันที่ 7 ธ.ค. 65 พบว่า 70% จากผู้แสดงความเห็น 263 คน เห็นด้วยกับข้อความว่า “(ค่าแรงขั้นต่ำ) ต้องสูงกว่า 600 บาทต่อวันได้แล้ว” และ 19% จากผู้แสดงความเห็น 263 คน เห็นด้วยกับข้อความว่า “(ค่าแรงขั้นต่ำ) 600 บาทต่อวันดีแล้ว” และที่ส่วนเหลือเห็นด้วยกับข้อความต่าง ๆ เช่น “ผลักดันวันละ 450 บาท ให้ผู้ประกอบการยอมรับให้ได้ก่อน”, “ตามกลไกตลาด ประสิทธิภาพ ผลผลิตของผู้รับจ้าง” และ “1,000 บาทต่อวันเท่านั้น” เป็นต้น ซึ่งสรุปได้ว่าสมาชิกจำนวนมากของสหภาพคนทำงานมีความประสงค์ที่จะเห็นข้อเสนอการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ตั้งเป้าสูงกว่า 600 บาทต่อวัน มากกว่าข้อเสนอของพรรคใดใดในสภา ณ เวลานี้
.
ข้อที่ 2. เราไม่เห็นด้วยกับหลักการการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่อ้างอิงกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักซึ่งมักจะทำให้เกิดการมองผลประโยชน์ของธุรกิจมาก่อนแรงงานเสมอ ในวันที่เศรษฐกิจซบเซาลง หรือประเทศประสบวิกฤติต่าง ๆ อาทิเช่นวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ความมั่นคงในการจ้างงานและรายได้ของแรงงานมักถูกบั่นทอนก่อนเพื่อลดภาระภาคส่วนอื่น ๆ สำหรับนโยบายที่ควรมีจุดมุ่งหมายเป็นการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นต่ำอย่างนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ความสำคัญของแรงงานต้องมาก่อนและตลาดแรงงานต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เราไม่หวังพึ่งให้คนส่วนใหญ่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องใช้สิทธินี้ แต่เนื่องจากผู้คนที่ต้องใช้สิทธินี้มักเป็นกลุ่มเปราะบาง คนหาเช้ากินค่ำและคนชายขอบ สังคมจึงต้องมีกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้รักษาความปลอดภัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต
.
ข้อที่ 3. เราขอเสนอและให้การสนับสนุนหลักการ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” หรือ Living Wage ซึ่งมีนิยามว่า “ค่าตอบแทนสำหรับการทำงานตามเวลาปกติ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉิน” ซึ่งในบริบทของสังคมไทยนั้น ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้กับรัฐสภา ได้เผยแพร่ผลสำรวจล่าสุดในปีนี้ว่ารายได้ของครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิงจะต้องไม่น้อยกว่า 723–789 บาทต่อวัน และรายได้ของครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง (2–3 คน) ต้องไม่น้อยกว่า 1,003–1,070 บาทต่อวัน ซึ่งเรามองเห็นว่าสอดคล้องกับเป็นความเป็นธรรมทางสังคมที่แรงงาน คนส่วนใหญ่ของสังคม พึงได้รับจากการร่วมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดขึ้นมา
.
สุดท้ายนี้ พวกเราประชาชนผู้ใช้แรงงาน มุ่งหวังไม่เพียงแค่ค่าแรงที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างอิสระ หรือรัฐสวัสดิการที่จะเพิ่มพูนโอกาสทางสังคม แต่เราต้องการเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานและใช้อำนาจต่อรองตามเนื้อหาในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ด้วย ทั้งนี้เพื่อใช้สิทธิของเราในระบบไตรภาคีอย่างเต็มที่และร่วมเสนอแนะการแก้ไขปัญหาประเด็นปากท้องของพวกเราด้วยปากเสียงของพวกเราเอง
.
10 ธ.ค. 65
สหภาพคนทำงาน
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ
กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
-----------