เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติล่องชายแดนใต้แก้ปัญหาทุกมิติ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติล่องชายแดนใต้แก้ปัญหาทุกมิติ





ad1

ปัตตานี-เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาความมั่นคงทุกมิติ

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564 – 2566 โดยมี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และ พลตำรวจโท นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมประชุม

 โดยในที่ประชุมได้มีการหารือ เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติงานความมั่นคง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ด้านความมั่นคง , การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในระดับพื้นที่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนหารือในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเตรียมการรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2564 – 2566 ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต (ระยะที่ 2) พ.ศ. 2566 – 2570 , แนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2565  ในด้านความมั่นคงและการบูรณาการงานระดับพื้นที่ รวมถึงปัญหา อุปสรรค และประเด็นที่ต้องการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ผลักดันในเชิงนโยบาย

 โดยภายหลังการประชุม พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในครั้งนี้ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กำกับดูแลนโยบายต่างๆในการทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 3 มิติให้เป็นไปตามกรอบแนวทาง คือ การดูแลความสงบเรียบร้อย, การพัฒนาพื้นที่ และการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติสุข จากการพูดคุย หารือกับแม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าการดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในขณะเดียวกันได้นำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมาพูดคุยในที่ประชุม 3 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาโควิด -19 ในพื้นที่ จชต. โดยได้มีการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของพื้นที่ จชต. มีเพียงจังหวัดนราธิวาส ที่ยังคงมีตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น แต่คาดการณ์ว่าตัวเลขน่าจะลดลงและสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นในเร็ววัน สำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น รัฐบาลได้สั่งการกำชับให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดต่อขบวนการ ซึ่งที่ผ่านมา ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด และต่อไปทาง สมช.จะช่วยสนับสนุนปัจจัยต่างๆเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องแรงงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเมื่อทำการเปิดประเทศนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการพูดคุย สั่งการ และคงจะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเร็ววันนี้

 สำหรับมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนาพื้นที่ จชต. นั้น การที่ประชาชนอยู่ดีกินดีคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม โดยจะประสานการทำงานร่วมกันกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแผนงาน นโยบาย รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ เพื่อนำมาขับแคลื่อนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

 นอกจากนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังประเมินการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการประเมินมาตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งทางรัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอดตามตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละด้าน นอกจากนี้ยังมีการทบทวนแผนระยะต่อไป เพื่อให้สอดรับกับผลที่ได้จากการประเมิน สำหรับการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้นจะมีการพูดคุยกันมากขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีอุปสรรคเรื่องโควิด -19 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ยุติบทบาทเรื่องการพูดคุย ได้มีการพูดคุยตามแผนที่วางไว้ เพียงแต่เป็นการพูดคุยในลักษณะที่ไม่ได้พบปะกัน และต่อจากนี้ คงจะได้ทำงานตามแผน ตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้มากยิ่งขึ้น

 ด้านพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติความมั่นคง ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ามีภารกิจในการสร้างความปลอดภัย และความสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาได้ยกระดับการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างมีเอกภาพครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกกลุ่มเป้าหมาย มีการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ แผนการดำเนินงาน การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และรายงานผลอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกันทุกระดับ

โดยได้กำหนดแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนแม่บทย่อยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งโครงการ การบริหารจัดการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย, โครงการพัฒนาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยหลักประชารัฐ และโครงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนไทย และองค์กรทั้งในและต่างประเทศ