"ทวีตเตอร์ อิงค์" ฉุน โดน "อีลอน มัสก์" เท ล้มดีลซื้อกิจการ-เดินหน้าฟ้องศาลบีบให้ซื้อกิจการตามข้อตกลงเดิม

"ทวีตเตอร์ อิงค์" ฟ้อง "อีลอน มัสก์"

"ทวีตเตอร์ อิงค์" ฉุน โดน "อีลอน มัสก์" เท  ล้มดีลซื้อกิจการ-เดินหน้าฟ้องศาลบีบให้ซื้อกิจการตามข้อตกลงเดิม





ad1

13 ก.ค. 2565  บริษัททวิตเตอร์ อิงค์ ยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ  เพื่อเอาผิดนายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ฐานละเมิดข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์วงเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้ร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้นายมัสก์ดำเนินการซื้อกิจการตามราคาที่ตกลงกันไว้ที่  54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น

 ทั้งนี้ คำร้องที่บริษัททวิตเตอร์  ยื่นต่อศาล ระบุว่า นายมัสก์ กระทำตามอำเภอใจด้วยการกลับลำยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการ  เขาฉีกสัญญาอย่างไม่เห็นคุณค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทวิตเตอร์ และด้อยค่าผู้ถือหุ้น

บริษัททวิตเตอร์ ยังกล่าวหาด้วยว่า มัสก์ถอนตัวออกจากข้อตกลงเนื่องจากข้อตกลงไม่ตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา เพราะหลังจากบรรลุข้อตกลงเสนอซื้อทวิตเตอร์ ราคาหุ้นของเทสลา ซึ่งเป็นบริษัทของมัสก์ก็ปรับตัวร่วงลงทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวของมัสก์ลดลงจากที่เคยขึ้นสู่ระดับสูงสุดในเดือนพ.ย.ปี 2564 เป็นจำนวนเงินถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ 

ในขณะที่หุ้นของทวีตเตอร์ก็ร่วงแตะระดับ 34.06 ดอลลาร์ในวันอังคาร (12 ก.ค.) ดิ่งลงมาอย่างมากจากที่เคยซื้อขายเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ ครั้งที่บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ตอบรับข้อตกลงซื้อกิจการในช่วงปลายเดือนเมษายน

มัสก์ ระบุว่า เขายุติการควบรวบกิจการ เพราะว่าขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีสแปมและบัญชีผู้ใช้งานปลอม ที่เขาบอกว่าเทียบเท่ากับเป็น "เนื้อหาไม่พึงประสงค์" นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า การแห่ลาออกของบรรดาผู้บริหารยังเท่ากับเป็นความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจในแนวทางปกติตามที่ทวิตเตอร์ต้องทำ

ทวิตเตอร์เรียกเหตุผลต่างๆ ที่ มัสก์ กล่าวถึงนั้น เป็นเพียง "ข้ออ้าง" และเชื่อว่าการตัดสินใจเดินหนีข้อตกลงของอภิมหาเศรษฐีรายนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับการดิ่งลงในตลาดหุ้นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

หุ้นของเทสลา แหล่งขุมทรัพย์หลักของมัสก์ สูญเสียมูลค่าไปแล้วมากกว่า 30% นับตั้งแต่ข้อตกลงนี้ถูกแถลงออกมา และปิดตลาดในวันอังคาร (12 ก.ค.) ที่ 699.21 ดอลลาร์

ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระบุว่าจากข้อมูลที่ปรากฏในสาธารณะ ดูเหมือนทวิตเตอร์น่าจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ สืบเนื่องจากแนวทางเจรจาต่อรองข้อตกลงของมัสก์ ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมการตรวจสอบสถานะธุรกิจก่อนควบรวมกิจการ