ยะลายกระดับเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทานอาหารภูมิปัญญาพื้นถิ่นโกตาบา

ยะลายกระดับเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทานอาหารภูมิปัญญาพื้นถิ่นโกตาบา





ad1

ยกระดับเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น
เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโกตาบารูเมืองรามันสร้างรายได้ชุมชน

โดย...แวดาโอ๊ะ หะไร

ที่ผ่านมา โครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จัดกิจกรรม Fam Trip : แนะนำและเปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโกตาบารู  ภายใต้แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น ปีที่2 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ดำเนินงานวิจัยภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิชาวดี ตานีเห็ง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว คนไทยนิยมท่องเที่ยวเมืองรอง  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงมีแนวคิดในการทำโครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มุ่งเน้นให้ชุมชนได้นำความหลากหลายทางชีวภาพและทุนทางวัฒนธรรม สร้างความสมดุลของชุมชนในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว พัฒนาช่องทางการตลาดการท่องเที่ยว และพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชื่องโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทีมคณะวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว Half Day Trip (ทริปเที่ยวครึ่งวัน : ชุมชนพหุวัฒนธรรมโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา) โดยการนำนักท่องเที่ยวสัมผัสเส้นทางชุมชนโกตาบารู เริ่มจากการสัมผัสทะเลหมอก เช็คอิน และเก็บภาพประทับใจ ณ จุดชมวิวบนภูเขาธารทองที่โอบล้อมด้วยผืนป่าเขียวขจี จากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารเช้า ภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น “ซุปไก่บ้านซิกเนอเจอร์” ชุมชนโกตาบารู ต้นตำรับสืบทอดจากประเทศบังคลาเทศและปากีสถานกว่า 100 ปี แวะช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อม 

โดยการใช้สีย้อมผ้าจากพืชพื้นถิ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อด้วยการเยี่ยมชมศาสนสถาน สุสานโต๊ะนิ วัดวชิรปราการและมัสยิดปากีสถาน พร้อมกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อาหาร ศิลปะ ประเพณี การปกครอง เศรษฐกิจ สายสัมพันธ์ชุมชนพหุวัฒนธรรมหัวเมืองโกตาบารู ณ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู และร่วมกิจกรรม DIY ทำขนมพื้นบ้าน “ขนมซามัง” ก่อนออกเดินทางกลับ โดยนำข้อเสนอแนะจากนักท่องเที่ยวมาพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนพหุวัฒนธรรมโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา ตอบสนองพฤติกรรมการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย สร้างความประทับใจ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างช่องทางการตลาดแก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิชาวดี ตานีเห็ง ยังกล่าวอีกว่า ทีมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเน้นการทำงานมีส่วนร่วมและบูรณาการกับเครือข่ายและภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นที่สร้างความน่าสนใจต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ที่มีคุณค่า

และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ กระจายรายได้แก่ชุมชน ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์และชุมชนสามารถบริหารจัดการรองรับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่(New Normal) และมีบริการที่ดีได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration)