สัตว์น้ำเถื่อน ภัยคุกคามที่บั่นทอนความมั่นคงหลายด้าน


ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันทางการค้า ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสัตว์น้ำกลับต้องเผชิญกับ “ขบวนการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย” ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ไม่ใช่แค่แอบขายของไม่เสียภาษี แต่เป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมเกษตร น้ำสะอาด สุขภาพคนไทย และชื่อเสียงของประเทศ
แม้ภาครัฐโดยเฉพาะกรมประมง จะพยายามปราบปรามอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสกัดปลากะพงขาว 7 ตันที่ด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หรือ การบุกยึดหอยลายสดหลายร้อยกิโลกรัมที่ซุกซ่อนอยู่ในรถบรรทุกข้ามแดนในภาคตะวันออก แต่ดูเหมือนว่าขบวนการเหล่านี้กลับยิ่งเติบโตและปรับตัวได้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาใช้ช่องทางออนไลน์ ตลาดสด และแม้แต่แฝงมาในสินค้าถูกกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ การสำแดงเท็จที่ด่านก็เป็นเรื่องปกติที่เจ้าหน้าที่บางส่วนก็ไม่ทันเกม
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสัตว์น้ำ “แปลก” และ “หายาก” อย่างปลาไหลแก้ว สายพันธุ์ยุโรป มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ที่ลักลอบนำเข้าทางเครื่องบิน หรือล่าสุด การลอบขนเต่าดาวอินเดียและปลามังกร มูลค่ากว่า 2 ล้าน ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สัตว์เหล่านี้แฝงเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดปลาสวยงาม แม้จะดูไม่เป็นพิษเป็นภัยในสายตาคนทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว สัตว์น้ำเหล่านี้อาจเป็นพาหะของโรคสายพันธุ์รุนแรง เช่น TiLV หรือ VNN ที่ยังไม่ปรากฏในไทย หากเล็ดลอดเข้าสู่ระบบน้ำของประเทศได้ ก็อาจแพร่เชื้อไปยังฟาร์มเพาะเลี้ยงต่างๆ จนก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่ามหาศาล และยิ่งไปกว่านั้น ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดโลกที่กำลังจับตามองมาตรฐานความปลอดภัยของไทยอย่างใกล้ชิด
ตัวเลขการส่งออกปลาสวยงามของไทยปีหนึ่งๆ อยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยคือประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามอันดับ 5 ของโลก ด้วยสัดส่วนตลาดกว่า 7% แต่หากภายในประเทศยังปล่อยให้มีการนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมายแบบไร้การควบคุม วันหนึ่งการส่งออกที่ภาคภูมิใจก็อาจถูกระงับจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) จากประเทศคู่ค้า ด้วยข้อหาความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
ที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศ ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนจากมาตรฐาน GAP, GMP และ HACCP อย่างเต็มที่ ในขณะที่สินค้าลักลอบกลับสามารถขายได้ในราคาถูกกว่าหลายเท่า เพราะไม่ต้องผ่านการควบคุมใดๆ ความไม่เป็นธรรมนี้ กำลังทำลายทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ฟาร์มเพาะเลี้ยง ลูกพันธุ์ โรงงานอาหารสัตว์ ไปจนถึงตลาดปลายทาง
และถ้าคิดว่าสัตว์น้ำเถื่อนจะจบเพียงที่ “ฟาร์ม” หรือ “ตลาด” นั่นเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป เพราะมีกรณีจริงที่สัตว์น้ำที่นำเข้าผิดกฎหมายถูกนำไปปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอาจกลายพันธุ์หรือรุกรานชนิดพันธุ์ท้องถิ่น สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในระยะยาวอย่างประเมินค่าไม่ได้
การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ปราบปราม” แต่ต้องเริ่มที่ “ปิดช่องโหว่” ทั้งด้านกฎหมาย กลไกการตรวจสอบ และที่สำคัญคือ “ทัศนคติของผู้บริโภค” ที่มักเลือกของถูกโดยไม่ใส่ใจที่มาหรือผลกระทบระยะยาว หากภาครัฐไม่เร่งทบทวนระบบควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำให้ทันยุค พร้อมเปิดช่องให้การนำเข้าสัตว์น้ำถูกกฎหมายมีความยืดหยุ่นขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริงบนพื้นฐานที่เท่าเทียม ปัญหานี้ก็จะเป็นระเบิดเวลา
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องตระหนักว่า “สัตว์น้ำเถื่อน” ไม่ได้ถูกแค่ที่ราคา แต่มัน “แพง” ที่ผลกระทบซึ่งทั้งลึกและยาวไกลกว่าที่ใครคาดคิด
โดย...อร่าม ทองพูล