ปัญหา “การยักยอกเงินวัด” และ “ การทุจริตในวงการสงฆ์” เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของ "ทิดแย้ม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ซึ่งกลายเป็นบทวิเคราะห์สำคัญที่เผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของวัดและสถานะของพระภิกษุผู้ปกครองวัด
๑. กรณีศึกษา: การยักยอกเงินวัดไร่ขิงโดย "ทิดแย้ม"
ข้อมูลจากข่าวพบว่า “ พบเส้นทางการเงินประมาณ ๓๐๐ กว่าล้านบาท ที่ (อดีต) เจ้าอาวาสใช้วิธีโอนตรง และ โอนผ่านคนอื่นรวม ๓ เส้นทางไปที่ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ นาง อ. (สีกา ก.) ก่อนที่ นาง อ. (สีกา ก.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกี่ยวกับการพนันอีก ๖ - ๗ บัญชี ซึ่งทำให้ตำรวจสงสัยว่าอาจมีความลับ ความสัมพันธ์ หรือ มีการเล่นการพนันเกิดขึ้น (อดีต) เจ้าอาวาสเองก็มีท่าทางเป็นทุกข์เพราะเงินวัดหมด และได้ไปยืมเงินจากวัดต่างๆ จนไม่รู้จะยืมที่ไหนแล้ว โดยมีช่วงที่น่าตกใจคือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๖๖ มีการโอนเงินให้ สีกา ก. ประมาณ ๘๐ ล้านบาทภายในเดือนเดียว ภาพรวมพบเงินกว่าพันล้านบาทต้น ๆ ที่ (อดีต) เจ้าอาวาสโอนให้สีกา ก. รวม ๔ บัญชี ซึ่งมียอดเงินหมุนเวียนรวมกว่า ๒ พันล้านบาท

นอกจากนี้ การตรวจสอบยังพบว่า “ วัดมีบัญชีเป็นร้อยบัญชี” แต่กลับมีการรายงานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ “เพียง ๔ บัญชี” เท่านั้น แสดงให้เห็นถึง การปกปิดบัญชีเงินของวัด นอกจากนี้ ยังมีรายได้ที่ไม่มีการเปิดบัญชี เช่น เงินสดจากการประมูลแผงร้านเช่าขายของ ซึ่งรับเป็นเงินสดและเข้าตรง (อดีต) เจ้าอาวาสโดยตรง (เกือบ ๒๐๐ ล้านบาทใน ๕ ปี) และเงินทอดกฐินประมาณ ๒๐ ล้านบาท ก็เข้า (อดีต) เจ้าอาวาสโดยตรงเช่นกัน
ผู้ได้ประโยชน์หลักจากเรื่องนี้มีผู้หญิง ๒ คน คือ "สีกา บ." และ "สีกา ก." ในช่วงแรกตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา เมื่อ "ทิดแย้ม" มาเป็นเจ้าอาวาส สีกา บ.และ หมอ ส. ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงที่ ทิดแย้มทำ “ โครงการหมู่บ้านศีล ๕ ” ในช่วงนี้มีการนำเงินวัดไปสร้าง "อาณาจักร" ของ สีกา บ. รวมถึงการสร้างอุทยานที่ขอนแก่น การซื้อที่ดินใกล้เคียง การสร้างสวนเกษตร ๑๘ ไร่ที่มุกดาหาร (มูลค่าหลายสิบล้านบาท) การสร้างร้านกาแฟและบ้านหลังใหญ่ ๒-๓ หลังที่สุโขทัย การสร้างบ้านพักและรีสอร์ทที่กำแพงเพชร และการซื้อที่ดินที่เชียงใหม่ รวมถึงในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายจังหวัด การเอาเงินวัดไปสร้างอาณาจักรนี้เกิดขึ้นก่อนที่ สีกา ก. จะเข้ามา หลังการจับกุม "ทิดแย้ม" ยอมรับสภาพและยอมสึก
๒. สถานะ "เจ้าอาวาส" กับการเป็น "เจ้าพนักงานตามกฎหมาย"
ประเด็นสำคัญในคดี “ การยักยอกเงินวัด” คือ “สถานะของเจ้าอาวาส” โดยกฎหมายได้กำหนดให้ “ พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ เป็น “เจ้าพนักงาน”ตามกฎหมาย” โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดที่ยืนยันสถานะนี้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔ ได้กำหนดความหมายของ "เจ้าพนักงานของรัฐ" ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ รวมถึง องค์กรอื่นใดที่ใช้อำนาจรัฐ หรือได้รับมอบให้ดำเนินการทางปกครอง
การที่เจ้าอาวาสมีอำนาจในการดูแลและจัดการทรัพย์สินของวัด ทำให้เจ้าอาวาสถูกจัดเป็น "เจ้าพนักงานของรัฐ" ซึ่งสามารถถูกดำเนินคดีในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ได้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๔๕ ให้ถือว่า “ พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงาน” ตามความในประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑ ( ๑๖ ) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือ ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๓๐๔ / ๒๕๕๖
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ บัญญัติว่า ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามความในประมวลกฎหมายอาญา" และตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ ๔ กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (๑๑) “ เจ้าอาวาส " ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติตังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๐๓ – ๒๐๐๕ / ๒๕๐๐
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพระภิกษุได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาส ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่การงานในทางทุจริตเรียกเอาเงินสินบนในการให้เช่าที่ดินของวัด มีความผิดฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานรับสินบน” การที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์บัญญัติไว้ว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญานั้น บ่งชัดถึงอำนาจและหน้าที่ กล่าวคือ เมื่อมีอำนาจในวัดเหมือนเจ้าพนักงานแล้วหากกระทำความผิดในหน้าที่ก็จะต้องเป็นผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดด้วย
๓. ความผิดฐาน " ยักยอกทรัพย์" กับ พฤติการณ์ในคดี “ยักยอกเงินวัด”
ความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์” คือ การที่บุคคล “ ครอบครอง” ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้ว “เบียดบัง” ทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งมีโทษ “ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ( ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ )
คดีความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์ ” เป็น “ คดีอาญาอันยอมความได้ ” ( เมื่อร้องทุกข์ได้ จึงถอนคำร้องทุกข์ได้ )
แต่ ผู้เสียหายจะ “ ต้องร้องทุกข์ หรือ ฟ้องเป็นคดีอาญา ” ภายใน ๓ เดือน นับแต่ รู้เรื่อง และ รู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความ

หากผู้เสียหายรู้เมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันเกิดเหตุแล้ว จะดำเนินคดีไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความเช่นกัน
วิเคราะห์คดีของ " ทิดแย้ม " ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่ อาจเข้าข่ายความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์สินของวัด ” พฤติการณ์เหล่านั้นได้แก่:
• การโอนเงินวัดไปให้บุคคลอื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว : เช่น การโอนเงินหลายร้อยล้านถึงพันล้านบาทให้ สีกา ก. และการโอนเงินไปให้ สีกา บ. เพื่อนำไปสร้างอาณาจักรและทรัพย์สินส่วนตัวในหลายจังหวัด
• การนำเงินวัดไปใช้ในการพนัน : เงินบางส่วนถูกโอนไปยังบัญชีการพนัน
• การไม่นำเงินรายได้เข้าสู่ระบบบัญชีวัดที่ถูกต้อง : เช่น การเก็บเงินสดจากการประมูลแผงร้านค้าและเงินกฐินไว้กับเจ้าอาวาสโดยตรง โดยไม่รายงานเข้าระบบ
• การปกปิดไม่แสดงบัญชีวัด : วัดมีบัญชีจำนวนมาก แต่กลับรายงานต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพียงไม่กี่บัญชี ทำให้เงินจำนวนมหาศาลอยู่นอกเหนือการตรวจสอบ
การกระทำเหล่านี้ถือเป็นการนำทรัพย์สินของวัด ซึ่ง เจ้าอาวาสมีอำนาจดูแลจัดการ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นโดยมิชอบ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการ “ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐยักยอกทรัพย์สินของวัด ”
เมื่อ “ เจ้าอาวาสวัด ” เป็น “ เจ้าพนักงานของรัฐ ” ดังที่กล่าวแล้ว ความผิดคดีนี้จึงมิใช่แค่ ความผิดฐาน “ยักยอกทรัพย์” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น หากแต่เป็น
ความผิดฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ยักยอกทรัพย์” (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ) : ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด ดังนี้

ผู้กระทำผิด : เจ้าพนักงาน ที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษาทรัพย์
การกระทำ : เบียดบังทรัพย์ นั้นเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น โดยทุจริต หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต
บทลงโทษ: จำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ถึง ๒๐ ปี หรือ จำคุกตลอดชีวิต และ ปรับตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาท
และอาจมีความผิดฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ( มาตรา ๑๕๗ ) : ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
ผู้กระทำผิด: เจ้าพนักงาน
การกระทำ: ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
บทลงโทษ: จำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อสังเกต:
มาตรา ๑๔๗ จะเน้นที่ การยักยอกทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานโดยตรง
มาตรา ๑๕๗ จะเน้นที่ การกระทำหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่สุจริต ซึ่งอาจรวมถึงการยักยอกทรัพย์หรือไม่ก็ได้
จะเห็นได้ว่า การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔๗ และ ๑๕๗ ถือเป็นความผิดร้ายแรง และมีโทษทางอาญา หนักกว่า ความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์” ตาม มาตรา ๓๕๒
คราวนี้มาดูหลักกฎหมายว่าด้วย "ทรัพย์สินของพระภิกษุ"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ และ ๑๖๒๔ โดยมีสาระสำคัญดังนี้:
ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ :
ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาจากการบริจาค หรือ ด้วยเหตุอื่นใดในระหว่างที่บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น
ข้อยกเว้น : หากพระภิกษุได้จำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปในระหว่างมีชีวิตอยู่ หรือทำพินัยกรรมยกให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินนั้นจะไม่ตกเป็นของวัด
ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนบวช:
ทรัพย์สินที่พระภิกษุมีอยู่ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จะไม่ตกเป็นของวัด และจะตกเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุ หรือสามารถจำหน่ายไปตามกฎหมายได้
สิทธิในการรับมรดก:
พระภิกษุ มีสิทธิรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรม หากเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้ หรือในฐานะผู้รับพินัยกรรม อย่างไรก็ตาม พระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่ จะสึกจากสมณเพศ มาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ
การจัดการทรัพย์สินของวัด:
วัดเป็น “ นิติบุคคล ” ตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า วัดมีสิทธิและหน้าที่ “แยก”ต่างหากจากพระภิกษุ การบริจาคทรัพย์สินให้แก่วัดจะถือเป็นของวัดโดยสมบูรณ์ เว้นแต่ ผู้บริจาคจะเจตนาให้เป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ การดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดเป็นอำนาจของเจ้าอาวาส

บทสรุป
กรณี " ทิดแย้ม " อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และ ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินของพระภิกษุในประเทศไทยดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึง ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดและการทุจริตในวงการสงฆ์
ข้อเสนอแนะ
จากกรณีศึกษาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว สามารถเสนอแนะแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในวงการศาสนาได้ดังนี้:
ยกระดับการตรวจสอบและธรรมาภิบาลทางการเงินของวัด:
๑.๑ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบบัญชี : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ควรมีบทบาทในการตรวจสอบบัญชีของวัดอย่างโปร่งใสและถี่ถ้วนมากขึ้น โดยไม่จำกัดเพียง ๔ บัญชีที่วัดรายงาน
๑.๒ พัฒนาระบบบัญชีกลาง : ควรมีการพัฒนาระบบบัญชีที่วัดต้องใช้และรายงานผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถตรวจสอบรายรับรายจ่ายได้ทุกช่องทาง รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่เงินบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร เช่น การประมูลแผงร้านค้า , การให้เช่าที่จอดรถ ,การให้บริการฌาปนกิจสถาน ฯลฯ
๒. ส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน: อาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการจากภาคประชาชน หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการเงินของวัด
๓. บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะ "เจ้าพนักงานของรัฐ" อย่างจริงจัง:
๔. การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่พระสงฆ์ เพื่อ สร้างความตระหนัก และการใช้ความระมัดระวังในการใช้ การเก็บรักษาเงินของวัด
จาก “ ทิดแย้ม ” สู่ “ ทิดอาชว์ ” ลามไปสู่ “ ทิด........ ” ฯลฯ
ก็เนื่องจาก “ เงิน ” ของวัด หรือ เงินของเจ้าอาวาส ?
เงินมา ...มิจฉา มี ( ไม่เฉพาะ สีกา มา เท่านั้น )
ยังไม่รวม “ นารี พิฆาต พระ ” ที่กำลังเป็นข่าวดัง เจ้าอาวาสวัดดัง ต้องลาสิกขาเป็นจำนวนมาก
ถึงเวลาหรือยังที่จะ สร้าง “ ธรรมาภิบาลทางการเงินของวัด” เพื่อสร้างศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์จะทำบุญเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มิใช่ เพื่อเจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์รูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ
โดย...นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒๕
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๘