“ดร.เอ้ สุชัชวีร์”เสนอ 3 ทางออก แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน

“ดร.เอ้ สุชัชวีร์”เสนอ 3 ทางออก แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน





ad1

จากกรณี ข่าวสุดสลด เมื่อ ส.ต.ต. ควบจักรยานยนต์ big bike ducati สีแดง ชนขณะที่ พญ.วราลัคน์เดินข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เป็นเหตุให้ พญ.วราลัคน์ เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ตำรวจนครบาลเผยแจ้ง 5 ข้อหา "ส.ต.ต." ขี่บิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิงเสียชีวิต "ขับรถโดยประมาทและ การกระทำนั้น เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย" และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในข้อหา นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง, ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมาย บนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม) และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ข้อหา ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจ "เอ้ สุชัชวีร์" เสนอทางแก้ปัญหาเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยได้ระบุข้อความว่า

"แค่เสียใจ คงไม่พอ สามทางแก้ ผมขอเสนอ โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญบนถนนใจกลางกทม. เมื่อรถมอเตอร์ไซด์ชนคุณหมอเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลาย
ผม เอ้ สุชัชวีร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด ต่อครอบครัวคุณหมอกระต่าย และเพื่อนร่วมงานทุกท่าน แต่แค่เสียใจ คงไม่พอ เมื่อผมอาสามารับใช้กทม. ก็ต้องมาพร้อมการการแก้ปัญหา ไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก ในฐานะวิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานฯ และอดีตนายกสภาวิศวกร ผมขอเสนอ (อีกครั้ง) ว่า ในประเทศที่อุบัติเหตุบนถนนน้อยมาก เขาทำอย่างไร ทำไมเราต้องเปลี่ยนถนนกทม.ให้ปลอดภัย

1. "ต้องไม่ยอมให้ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง มีหน่วยงานหาความจริง"

เมื่อมีอุบัติเหตุบนถนน เขาจะตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบนเรียนจริงจัง ไม่รอข่าวเงียบ เพื่อหาต้นตอปัญหา ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ เพราะมันอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย ดังนี้ "เกิดจากถนน และสิ่งแวดล้อม" หรือ "เกิดจากยานพาหนะ" หรือ "เกิดจากคน ผู้ขับขี่" หรือ ทุกปัจจัย เพื่อนำไป "แก้ไขที่ต้นเหตุ!!!" ลดความเสี่ยง หยุดการสูญเสียในอนาคต

กทม. จะต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง ถอดบทเรียนเพื่อนำมาดำเนินลดความเสี่ยง หน่วยงานนี้ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอก ดำเนินการเก็บข้อมูลหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง
แล้วเสนอทางแก้ไข ทั้งด้วยการเปลี่ยนกายภาพถนน ใช้เทคโนโลยี และใช้กฏหมายเข้มข้น กทม. มีสำนักจราจร มีสำนักโยธา มีสำนักการแพทย์ มีคณะวิศวะ คณะแพทย์ มีคนเก่ง พร้อมครับ ต้องทำ #เราทำได้

2. "ประชาชน ชุมชน ต้องร่วมตรวจประเมินถนน ฟุตบาท"
การป้องกันดีกว่า การแก้ไขหลังสูญเสีย ในต่างประเทศ จะมี "การประเมินความปลอดภัยบนถนน" หรือ Road Safety Audit เป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน และมี "ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน" มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตบาท ปีละสองครั้งก็ได้ ชุมชนเช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะลูกเขาข้ามถนน ใช้ฟุตบาทไปโรงเรียนตรงนี้ทุกวัน เขามาทำงานเดินผ่านทางนี้ทุกวัน เขารู้ดี ว่าเขามีอันตราย ลูกเขาเสี่ยง ผมมั่นใจ ประชาชนพร้อมช่วยครับ หากกทม.เปิดโอกาส และ สำคัญสุด

3. "ปลูกฝังจิตสำนึกกฏจราจรแต่เด็ก ให้ลูกสอนพ่อแม่"

เพราะต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็แค่ลดความเสี่ยง ยังไงไม่สู้ การมีจิตสำนึกของคนใช้ถนน จริงไหม? ทุกชาติ เริ่มที่เด็กเล็ก! ผมอยากทำโรงเรียนอนุบาลกทม. ที่สอนหน้าที่พลเมือง เรื่องการขับรถ การข้ามถนน แม้ว่าวันนี้เขาขับขี่ยังไม่ได้ แต่เขาสอนพ่อแม่! "ไฟเหลืองนะคะ คุณพ่อหยุดนะคะ" หรือ "มีคนรอข้ามทางม้าลาย แม่หยุดนะครับ" ใครกล้าไม่เชื่อลูก? อายลูก และเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กรุงเทพก็มีพลเมืองคุณภาพ เคารพกฏจราจรทุกคน ดีไหมครับ