ชาวไรมั่นบัวใหญ่เศร้า!ภัยแล้งไรแดงระบาดแปลงมันสำปะหลังเสียหาย(ชมคลิป)

ชาวไรมั่นบัวใหญ่เศร้า!ภัยแล้งไรแดงระบาดแปลงมันสำปะหลังเสียหาย(ชมคลิป)





ad1

นครราชสีมา-เกษตรกรบัวใหญ่เศร้า ภัยแล้งไรแดงระบาด แปลงมันสำปะหลังเสียหายขยายวงกว้าง ด้านเกษตรโคราชเร่งตรวจสอบแนะวิธีป้องกันกำจัดแก่เกษตรกร

 
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาสภาพอากาศแห้งแล้ง และมีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ เอื้อต่อการแพร่ระบาดของไรแดงมันสำปะหลัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังใหม่ อยู่ในช่วงอายุ 1-3 เดือน  เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา จึงต้องเร่งลงพื้นที่แนะนำให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้รู้วิธีการป้องกันและกำจัดไรแดง ก่อนที่พืชผลจะได้รับความเสียหาย

นายวรกร เปรื่องค้า หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช เกษตรจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยเกษตรอำเภอบัวใหญ่ และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ  ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรในตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ตามที่เกษตรกรแจ้งขอความช่วยเหลือ ซึ่งการตรวจสอบแปลงปลูกโดยรอบ เบื้องต้นพบการระบาดของไรแดงมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก  เมื่อสอบถามถึงวิธีการป้องกันกำจัดจากเกษตรกรเจ้าของแปลง ทราบว่า ส่วนใหญ่จะใช้ยาป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟมาฉีดพ่นหวังทำลาย  ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีกำจัดผิดกลุ่มแมลง  เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้เป็นผลในทางบวก  เป็นการสูญเปล่า  เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้สารเคมีป้องกันกำจัดไรแดง จำพวก อามีทราซ ไพริดาเบน สไปโรมีเซน เป็นต้น

ด้านนายวรกร เปรื่องค้า หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ไรแดงมันสำปะหลังจะดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบของส่วนยอด และขยายปริมาณลงสู่ใบส่วนล่าง  ซึ่งอาการเริ่มแรกของโรคไรแดงมันสำปะหลัง สังเกตได้จากใบจะเกิดเป็นจุดประด่างสีเหลืองขาว เมื่อพลิกดูใต้ใบ จะเห็นตัวไรแดง ต่อมา หน้าใบเกิดจุดประด่างจะซีดและขยายแผ่กว้างขึ้น ทำให้หน้าใบเหลืองซีดม้วนงอ ใบแห้ง และหลุดร่วงจากต้น ส่วนยอดใบที่ถูกทำลายจะเห็นเป็นจุดด่างเหลืองไปจนถึงไหม้ ส่งผลให้ชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งหากเกิดการระบาดขึ้นในระยะที่ต้นมันสำปะหลังอายุยังน้อย  อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังตาย  หรือหากระบาดในระยะที่ต้นมันสำปะหลังอายุมาก จะทำให้การสร้างหัวของมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากใบขาดคลอโรฟิลล์

สำหรับแนวทางป้องกัน ให้หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง รวมถึง หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของไรแดง ให้เก็บชิ้นส่วนพืชที่ถูกไรแดงเข้าทำลาย นำไปเผาทำลายนอกแปลง และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติซึ่งเป็นศัตรูของไรแดง เช่น ด้วงเต่า ด้วงปีกสั้น และไรตัวห้ำ  ส่วนแนวทางแก้ไขกรณีเกิดการระบาดที่รุนแรง  แนะนำให้ใช้สารกำจัดไรแดงฉีดพ่น ในอัตราส่วนของแต่ละชนิด อาทิ ไพริดาเบน 20% WP ในอัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ,  เฟนบูทาติน ออกไซด์ 55% SC ในอัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร  ,  สไปโรมีซิเฟน 24% SC ในอัตรา 6 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ,  เตตราไดฟอน 7.25% EC ในอัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ,  อามีทราซ (amitraz) 20% EC ในอัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร   ทั้งนี้ การใช้สารกำจัดไรแดงไม่ควรฉีดพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง และควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันไรแดงต้านทานต่อสาร ซึ่งเกษตรกรสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรทุกแห่ง

 ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา รายงาน