“เดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal"

“เดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal"





ad1

4 ประสาน จับมือกระตุ้นท่องเที่ยวไทย กับกิจกรรม “เดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal"

 ​ณ บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมเบิกฤกษ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวปลอดภัยด้วยรถไฟ กับกิจกรรม “เดินทางด้วยรถไฟ ท่องเที่ยวปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบ Next Normal" ประกอบด้วย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และพล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ทั้ง 4 หน่วยงาน จะมีการประสานการทำงานร่วมกันในการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ให้มีความปลอดภัยทั้งด้านสุขอนามัย รวมถึงการใช้ชีวิตและระหว่างการเดินทาง โดยใช้เทศกาลสงกรานต์เป็นกิจกรรมนำร่องของการทำงานร่วมกันในทุกมิติ

          โดย กรมอนามัย ในฐานะของหน่วยงานที่กำหนดกรอบความความปลอดภัยด้านสุขอนามัย การออกมาตรการในการให้บริการกับผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการให้บริการของการรถไฟ ที่จะมีมาตรการต่างๆ รองรับการเดินทางทั่วไป และการเดินทางท่องเที่ยว โดย นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยจากโควิด ขอเน้นย้ำให้สถานีรถไฟปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting คือ 1. ทำความสะอาดในพื้นที่หรือจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร ลูกบิด ราวบันได เป็นต้น สำหรับยานพาหนะ ทุกรอบที่ให้บริการ และหลังการให้บริการ ให้เน้นการเช็ดทำความสะอาดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวจับ ที่นั่ง กระจกภายในขบวนรถไฟ เป็นต้น ด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป 2.กรณีตู้นอน ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน ต้องเปลี่ยนและนำไปซักให้สะอาดทุกรอบที่ให้บริการ 3.ทำความสะอาด 7 จุดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคในห้องน้ำ  คือที่จับสายฉีดชำระ บริเวณพื้นห้องน้ำ ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตูหรือลูกบิด กำจัดขยะทุกรอบหลังเสร็จสิ้นการขนส่งผู้โดยสาร

สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ต้องยึดหลักป้องกันตนเองตลอดเวลา มีการประเมินตนเองด้วย Thai Save Thai เพื่อคัดกรองความเสี่ยง จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันไว้ให้บริการ เช่น เครื่องวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดทุกครั้ง ก่อนและหลังให้บริการในจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ จัดการเดินรถไฟโดยไม่ให้มีความแออัดของผู้โดยสาร ทั้งบริเวณสถานี และบนรถไฟ พนักงานทำความสะอาด สวมหน้ากากและถุงมือยางขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค สำหรับผู้โดยสารหากมีความเสี่ยง หรือมีอาการ ควรตรวจ ATK ก่อนการเดินทาง 72 ชั่วโมง หากมีความเสี่ยง ควรงดการเดินทาง เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ขณะเดินทางสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่ม งดหรือหลีกเลี่ยงการพูดคุย รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อกลับถึงที่พัก

 

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า “ในช่วงสงกรานต์นี้ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเล่นน้ำให้ใช้วิธี “ริน รด พรม และพื้นที่จัดงานต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มาตรการในงานตกลงร่วมกันระหว่างผู้จัดงาน ผู้ร่วมงาน และผู้ควบคุมกํากับ เน้นรับผิดชอบต่อสังคม”

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟท. ให้สำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดขบวนรถไฟทั้งขบวนรถปกติ และขบวนรถพิเศษนำเที่ยว การให้บริการเช่าเหมาเพื่อทำกิจกรรมท่องเที่ยว อย่างเช่น กิจกรรมสำหรับนักปั่นจักรยาน การจัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ Unseen Thailand เส้นทางท่องเที่ยวรถไฟลอยน้ำ หนึ่งเดียวของเมืองไทย ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยวเส้นทางสายประวัติศาสตร์ ขบวนรถไฟนำเที่ยว ม่วนแต้ๆ แอ่ว แม่เมาะ By SRT x EGAT เส้นทางกรุงเทพฯ  ลำปาง และ เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ฯลฯ

นายนิรุฒ กล่าวเสริมว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก และในฐานะที่รถไฟถือเป็นการเดินทางที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ก็จะมีความผูกพันและหลายคนก็ยังมีความทรงจำประทับใจกับการเดินทางด้วยรถไฟ เราเคยจัดกิจกรรม หัวลำโพง อิน ยัวร์อาย เราก็ได้เห็นว่าคนไทยมีความประทับใจและมีความทรงจำมากมายกับการเดินทางด้วยรถไฟ ดังนั้นในอนาคต แม้ว่าสถานีหัวลำโพงจะลดบทบาทในเรื่องของการเดินทางลง เราก็มีแผนในการพัฒนาหัวลำโพงในฐานะพื้นที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และสถานีรถไฟที่มีประวัติศาสตร์”

นอกจากการให้ความสำคัญ และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟอย่างต่อเนื่องแล้ว การเดินทางด้วยรถไฟภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด  โดยนาย นิรุฒ กล่าวว่า “สองปีที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 รฟท.ได้ดำเนินมาตรการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเดินทางของมีความปลอดภัย อย่างเรื่องของการรักษาระยะห่าง รฟท.ก็มีการลดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละตู้ของการเดินทางลง เพื่อไม่ให้เกิดการแออัด มีการตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าสถานี การตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง การรักษาระยะห่าง Social Distancing พร้อมให้สแกนแอปพลิเคชัน ไทยชนะ ก่อนและหลังใช้บริการ มีการเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด ฉีดพ่นแอลกอฮอลในขบวนรถโดยสารทุกครั้งหลังบริการ มีการฉีดพ่นบริเวณจุดสัมผัสพื้นที่ในสถานีรถไฟเป็นประจำ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย ต่อผู้โดยสารตลอดการเดินทาง”

ด้าน พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กล่าวถึงบทบาทของตำรวจท่องเที่ยวว่าในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการอำนวยความสะดวกรักษาความปลอดภัย ยังมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยมีการดำเนินการตาม “มาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์” ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีการทำแผนและมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การระดมกวาดล้างอาชญากรรมในห้วงวันที่ 8-17 เมษายน 2565

และ “โครงการประชารัฐร่วมใจดูแลความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ(ฝากบ้าน 4.0) ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายน 2565 โดยกำหนดให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ การลงทะเบียนผ่าน Applizcation “OBS” หรือยื่นแบบฟอร์มเข้าร่วมโครงการฯได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน นอกจากนี้ยังมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 เพื่ออำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย และให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มในการออกตรวจของสายตรวจตำรวจท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน หรือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความร่วมมือและสร้างภาคีเครือข่ายในการให้บริการการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย

มีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนภารกิจ การจัดตั้งให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งสายด่วน 1155 และแอพพลิเคชั่น Tourist Police i lert u เพื่อรองรับ การให้บริการในการรับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่น ได้ทั้งระบบ Android และ IOS จะมีเจ้าหน้าที่ล่ามแปลภาษาต่างประเทศ จำนวน 5 ภาษา (อังกฤษ รัสเซีย จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น) พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.

ด้าน นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ผลจากการบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ ททท. คาดว่า จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 13-17 เมษายนนี้ จะมีคนไทยเดินทางภายในประเทศคึกคัก โดยคาดว่าจะมีการเดินทาง3.34 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 41% และ ททท. ได้มีการเตรียมการกระตุ้นการตลาดนักท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มขนส่ง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีการบริการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยต่อไปในอนาคต โดยคาดว่าปี 2565 นี้ จะมีการเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 165 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมไม่น้อยกว่า 656,000 ล้านบาท