สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดยื้อ!คาดไทยเผชิญเงินเฟ้อพุ่งอีก 6%

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดยื้อ!คาดไทยเผชิญเงินเฟ้อพุ่งอีก 6%





ad1

สงครามรัสเซีย- ยูเครนยังไม่จบ ! สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดไทยเงินเฟ้อพุ่งอีก 6%

วันที่ 24 เม.ย. 65 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ สศช.จะแถลงภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2565 โดยประเมินว่า ทิศทางผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสที่ 4/2564 และไตรมาส 1/2564 แม้จะมีสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครน ราคาพลังงานที่ผันผวน ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูง และราคาสินค้าแพงขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปได้อยู่ โดยคาดว่าทั้งปี 2565 เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3%

“แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังไม่มีปัจจัยมาฉุดรั้งมากกว่าปัจจัยเดิมที่มีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนยังไม่จบ อัตราเงินเฟ้อที่ยังพยายามคุม ยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ วัตถุดิบที่ยังราคาสูง ทั้งอาหารสัตว์ ปุ๋ย เหล็ก ทองแดง จากสงครามที่ยังไม่ยุติ ยิ่งรบกันนาน ราคาจะยิ่งผันผวนมากขึ้น ซึ่งวัตถุดิบเป็นปัจจัยการผลิตของประเทศ” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไทยเกิดจาก Cost push (อุปทาน) ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่ม เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งราคาน้ำมัน และสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อมีความเป็นไปได้อัตราเงินเฟ้อระหว่างปีจะอยู่ที่ 6% แต่คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะไม่เกินกรอบ 4.9% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เกาะติดเรื่องราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ขอขึ้นราคาสินค้า ต้องดูต้นทุนว่าเพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร

“ถ้าเศรษฐกิจยังโตได้ เงินเฟ้อก็ยังไม่น่าห่วงมาก แต่ต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้มีรายได้น้อย เพราะคนไทยมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มรายได้ปานกลาง กลุ่มปานกลางค่อนข้างสูง และกลุ่มรายได้สูง ซึ่ง 3 กลุ่มนี้มีความสามารถรับมือเงินเฟ้อที่ 6-7% ได้ แต่คนที่มีรายได้น้อย รัฐจะต้องเข้าไปช่วย หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางก็อาจจะต้องมีมาตรการบางอย่างมาช่วยด้วย เป็นคนละมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ รอประเมินสถานการณ์ไตรมาสที่ 2 นี้มีผลกระทบรุนแรงแค่ไหน”

นายดนุชากล่าวถึงโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ว่าเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังไปดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เหมาะสมที่จะทำหรือไม่ ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนการที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนั้น จะเป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได และรัฐบาลจะเข้าไปช่วยครึ่งหนึ่ง อย่างเช่น ในวันนั้นน้ำมันอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อแปลงเป็นราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร รัฐบาลจะช่วยส่วนต่าง 4 บาท ราคาขายจริงอยู่ที่ 34 บาท และไม่ได้ขึ้นทีเดียว จะทยอยขึ้นจาก 32 บาท จนถึง 34 บาท