กรมทางหลวงลุยสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกตะลุโบะ

กรมทางหลวงลุยสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกตะลุโบะ





ad1

ปัตตานี-กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกตะลุโบะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ครั้งที่ 3

นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมสรุปผลการศึกษา ครั้งที่ 3  โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบะ) จังหวัดปัตตานี ที่ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสรุปผลการศึกษา รวมทั้งการออกแบบโครงการใช้พื้นที่เขตทางหลวงเพื่อให้มีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณทางแยกน้อยที่สุด รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจรในแต่ละทิศทางและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก โดยมีนายคุณวุฒิ สุนทรนนท์ ผู้แทนสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง และนายสมกิตติ์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี และผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ทั้งในห้องประชุม และร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์พร้อมกัน

นายคุณวุฒิ สุนทรนนท์ ผู้จัดการโครงการฯกล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากแยกตะลุโบะ ซึ่งเป็นจุดทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเป็นแนวเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจรและการสัญจรในแนวทางหลวงหมายเลข 410 ต้องกลับรถบริเวณใต้สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี และ กลับรถบนแนวทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นการปรับปรุงบริเวณแยกตะลุโบะเป็นทางแยกต่างระดับ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อเป็นการยกระดับ การพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูมิภาคอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย สำหรับรูปแบบโครงการออกแบบเป็นสะพานข้ามจุดตัดทางแยกในแนวทางหลวงหมายเลข 42 ปัตตานี-นราธิวาส เชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีด้านฝั่งแยกตะลุโบะ เป็นสะพานคู่ขนานขนาด 4 ช่องจราจร ด้านล่างบริเวณจุดตัดทางแยกใต้สะพานปรับปรุงเป็นแยกสี่แยกสัญญาณไฟจราจร ทำให้การสัญจรในแนวถนนยะรัง และทางหลวงหมายเลข 410 สายปัตตานี-ยะลา-เบตง สามารถเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง ทิศทางการจราจรเป็นแบบเดินรถทางเดียว เพื่อความรวดเร็วในการสัญจรและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง คากว่าจะสรุปผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา ขณะเดียวกัน เตรียมของบประมาณในก่อสร้างปี 67 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 70 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วย ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัด รวมทั้งประชาชนเดินทาง สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยขึ้น