“ย่านสร้างสรรค์” กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต

“ย่านสร้างสรรค์” กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต





ad1

นายธรรมนูญ ภาคธูป  ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 ปฏิบัติหน้าทีสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนา  อย่าง “ย่านสร้างสรรค์”  ก็คือการพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เริ่มต้นจากการให้คุณค่ากับชุมชน และวิถีชีวิตดั้งเดิม ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องที่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจคัดเลือกแนวทางการพัฒนาร่วมกับกลุ่มคนสร้างสรรค์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาย่าน  

สร้างแลนด์มาร์กให้น่ามอง ลองจัดย่านให้น่าอยู่ ปลุกย่านให้มีชีวิต ด้วยความคิดสร้างสรรค์  โดยไม่ลืมเตรียมความพร้อมคนในย่านดั้งเดิม และธุรกิจในย่าน ความต้องการของพื้นที่ย่าน จะช่วยให้ย่านสามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับผู้คนในพื้นที่ และเป็นที่รู้จักให้กับกลุ่มคนนอกพื้นที่  ซึ่งหากการพัฒนาเกิดความสุขของผู้อยู่อาศัย  ความสุขของนักท่องเที่ยว  ถ้าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ มีความบาลานซ์กัน  คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างจังหวัดน่านซึ่งมีลำน้ำน่านเป็นเส้นหล่อเลี้ยงจังหวัดน่าน เพราะฉะนั้นก็มองว่าสองข้างทางลำน้ำน่านมีอะไรบ้าง ที่เกิดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจะมีสองส่วน คือ  วัฒนธรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อย่างอาคารเก่า บ้านเรือนเก่า กับอีกอันหนึ่งคือวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งก็มีตั้งแต่เสื้อผ้า  อาหาร ภาษาที่ใช้ ความเชื่อ หลายๆอย่างเหล่านี้เป็นสมบัติที่มีค่าในอดีต กลับมารักษาสิ่งเหล่านี้  แล้วผู้คนที่เข้ามาน่าน ก็มาเรียนรู้น่าน ในสไตล์ที่ลึกซึ่ง  ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มาสร้างเป็นย่านขึ้นมา  เป็นการเล่าให้ผู้คนที่เข้ามาจังหวัดน่านฟัง  และในขณะเดียวกันคนน่านก็ได้เรียนรู้การรักษาวัฒนธรรมในการดำรงชีพ และมรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ถ่ายทอดต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ที่ผ่านมาคนน่าน ต้องการทำให้น่านเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต  ทางอพท.ก็เพียงแต่เอาองค์ความรู้หลายอย่างๆเข้ามา อย่างเช่นผ้าทอ ทำอย่างไรให้ผ้าทอมีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ใช้วัสดุที่เป็นของโบราณ มีลายที่เป็นที่ต้องการของตลาด และก็มีการเล่าเรื่องราว มี Story Telling เข้าไป  ก็เป็นการเพิ่มมูลค่า ทำให้มองเห็นว่า คุณค่าภูมิปัญญาเดิมจะต่อยอดได้อย่างไร  จะไปพัฒนาได้อย่างไร

และข้อสำคัญจากเดิมที่คนรุ่นใหม่ ทิ้งบ้าน ทิ้งถิ่นเข้าไปอยู่ในเมือง เข้าไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม แต่วันนี้ภาคเศรษฐกิจที่เคยพึ่งแต่อุตสาหกรรมอย่างเดียว เรามีอีกขาหนึ่ง ที่เป็นภาพของวัฒนธรรม ของภูมิปัญญา คนที่เป็นคนรุ่นใหม่ จำนวนมากก็เริ่มกลับมาอยู่ที่บ้าน  ในความสุขของผู้อยู่อาศัย ก็ต้องดูในเรื่องความเป็นครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสุขภาพ อันนี้คือโจทย์ที่ อพท.6 เข้าไปพัฒนา