สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงเสนอตั้งโรงเรียนปาล์มน้ำมันแก้แรงงานขาดแคลน

สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงเสนอตั้งโรงเรียนปาล์มน้ำมันแก้แรงงานขาดแคลน





ad1

“ปาล์มน้ำมัน-ยางพารา” แรงงานขาด ปาล์มน้ำมันขาดคนตัดไม่มีความเข้าใจ พบ จ.พัทลุง นครศรี  สงขลา  เปิดโรงเรียนปาล์มน้ำมัน  ส่วนยางพาราขาดยกอำเภอ จ.สงขลา เหตุราคาไม่ดีน้ำยางหด เสนอสภาเกษตรจังหวัด เรื่องเร่งด่วน

นายโอภาส หนูชิต สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะปาล์มน้ำมันทางด้านราคาถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไปได้ดี แต่ที่กำลังประสบปัญหาคือด้านแรงงานตัดปาล์มน้ำมันที่มีความเข้าใจการตัดปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะที่ประสบปัญหากัน คือที่ จ.พัทลุง สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช

แรงงานตัดตัดปาล์มน้ำมันที่ประสบกันคือเมื่อตัดทะลายปาล์มก็จะมีการตัดทางปาล์มน้ำมันด้วย ส่งผลให้ลำต้นเรียวคุณภาพปาล์มน้ำมันจะให้ผลผลิตปริมาณที่ลดลง ซึ่งจะสร้างความเสียหายในระยะยาวต่อไป

“ปาล์มน้ำมันจะไม่ไปตัดทางปาล์ม  ปาล์มน้ำมันจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีทางประมาณ 24 – 26 ทาง / ต้น”

นายโอภาส กล่าวว่า แรงงานปาล์มน้ำมันเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน ซึ่งจะนำเข้าสู่ประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง หารือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะให้ทางการดำเนินการเปิดโรงเรียนปาล์มน้ำมันขึ้น ทำการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน และแรงงานปาล์มน้ำมัน เพื่อนำไปประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องได้ประสิทธิภาพ

นายโอภาส กล่าวว่า และเรื่องของความไม่เข้าใจในการตัดปาล์มน้ำมันมีส่วนในการสร้างความสูญเสีย คือการตัดผลปาล์มน้ำมันที่ยังไม่สมบูรณ์ตามที่กำหนด คือปาล์มน้ำมันแก่และไม่สุกซึ่งเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันเมื่อส่งไปขายยังลานเทปาล์มน้ำมันก็จะถูกคัดเลือก และในส่วนของลานเทปาล์มน้ำมันเมื่อส่งไปยังโรงงานหีบปาล์มน้ำมัน ก็จะถูกคัดเลือกซึ่งได้สร้างความสูญเสียมากเช่นกัน

สำหรับแรงงานปาล์มน้ำมันเป็นแรงงานที่สร้างรายได้ดี โดยจะได้ค่าแรงงานประมาณ 1 บาท / กก. แต่ละคนตัดได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน / วัน  มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท / ตัน  / วัน  และเป็นแรงงานทำงานทำรายได้ตลอดปีทั้งหน้าแล้ง และหน้าฝน

ส่วนทางด้านแรงงานยางพารา นายสมพร ดียวง ผู้จัดการ สำนักงานสหกรณ์กองทุนสวนยางพรุนายขาว จำกัด  อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า แรงงานยางพาราเกิดขาดแคลนเช่นกัน สิ่งแรกคือยางพาราราคาตกต่ำ และน้ำยางพาราหดตัว 60-70 เปอร์เซ็นต์ กรีดยาง 10 ไร่ ได้ประมาณ 200-300 บาท / วัน สาเหตุที่น้ำยางหดตัวเพราะเกิดจากโรคยางพาราใบร่วง และไม่ได้ใส่ปุ๋ยบำรุง เพราะปุ๋ยราคาสูง

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ  ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา  เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะถึงฤดูกาลเปิดหน้ากรีดเต็มพื้นที่แล้ว แต่แรงงานกรีดยางพารายังไม่มี โดยภาพรวมแล้วแรงงานกรีดยางพาราบางจังหวัดขาดแคลนไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่เกิดขาดแคลนเพราะได้หันไปทำงานอื่น สาเหตุเพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย ยางพราได้น้ำยางสดปริมาณน้อย สาเหตุเกิดจากโรคใบร่วง และไม่ได้ใส่ปุ๋ย.

โดย...อัสวิน  ภักฆวรรณ