‘ทวี สอดส่อง’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ และ ครม. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’

‘ทวี สอดส่อง’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ และ ครม. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’





ad1

‘ทวี สอดส่อง’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ และ ครม. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ มีมูลน่าเชื่อว่า ‘ปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’

วันนี้ (26 พ.ค.66) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในประเด็นความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือกฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย โดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนบังคับใช้ ในมาตรา 22-25 ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติแปดต่อหนึ่ง ให้ พ.ร.ก.ฉบับนั้น ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ เห็นว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลไม่ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฏหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 บัญญัติว่า ‘รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า “การเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวส่อเจตนาเพื่อมุ่งที่จะไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย จึงมีมูลน่าเชื่อว่าเข้าข่าย ‘ความผิดฐานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต’  ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีย่อมรู้ดีว่า การอ้างเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณและบุคลากร ไม่เข้าเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. …” 

“โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีกฏหมายพิเศษใช้ เมื่อมีการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยจะใช้ทั้ง กฏอัยการศึก ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมตัวได้อีก 30 วัน ที่ทหารจะนำไปควบคุมที่ศูนย์ซักถามในค่ายอิงคยุทธ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และตำรวจจะนำไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติศูนย์ซักถามของตำรวจยะลา”

พันตำรวจเอก ทวี เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่า ในช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 66 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 66 ทหารมีจำนวนผู้ต้องสงสัยประมาณ 30 ราย และตำรวจมีจำนวนผู้ต้องสงสัยประมาณ 7 ราย รวม 37 ราย ออกจากศูนย์ซักถาม ซึ่งจะสามารถการดำเนินการ 2 กรณี คือ

1.เมื่อครบกำหนดควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.แล้ว ปรากฎไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับตาม ป.วิอาญา พนักงานสอบสวนจะรับตัวแล้วปล่อยตัวไป

2.เมื่อครบกำหนดควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.แล้ว พนักงานสอบสวนมีหลักฐานเพียงพอขอออกหมายจับ ป.วิอาญา ต่อศาลและศาลอนุญาต พนักงานสอบสวนจะรับตัวและแจ้งข้อกล่าวหา ควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “การใช้อำนาจออก พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญของ พลเอก ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ถือว่ามีเจตนาไม่มุ่งคุ้มครองบุคคลจากการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และทำลายระบบกฎหมาย ต้องขอบคุณศูนย์ข่าวภาคใต้ ที่เสนอข่าวนักวิชาการจี้ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องร่วมกันรับผิดชอบครับ”