ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี เปิดปกติ หลังไทยหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าไปเมียนมา

ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี เปิดปกติ  หลังไทยหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าไปเมียนมา





ad1

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี ) อ.แม่สอด จ.ตาก กับจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมา ทั้งที่ด่านพรมแดน 1.สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1. และด่านพรมแดน 2. สะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 2. ยังคงเปิดเป็นปกติ โดยด่านพรมแดน 1. นั้นประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถ ข้ามไป-มา ได้ ,  ส่วน ด่านพรมแดน 2. รถบรรทุกสินค้า ผ่านแดนก็สามารถข้ามไปส่งสินค้า เป็นปกติเช่นกัน  ไม่ได้ปิดตามคำขมขู่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF   แต่อย่างใด ภายหลังจาก กรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ไทย)  ได้ทำการระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้ดำเนินการซื้อขาย-ควบคุมกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง โดยหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า ตั้งแต่ช่วงเวลา 24.00 น. ที่ผ่านมา

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก -นักธุรกิจ ที่ทำการค้าส่งออก รายใหญ่ รายหนึ่ง ใน อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า การจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ด้านซื้อ-ขาย กระแสไฟฟ้า  ไม่ส่งผลกระทบกับการค้าชายแดน หรือการปิดชายแดน  กลุ่มที่คัดค้านเรื่องนี้ก็คงต้องไปเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมา เอง เพราะเมียนมา ได้ทำหนังสือขอให้ไทยหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า เอง

ทางด้าน นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ก่อนการจะระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมานั้น ตัวแทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  ได้มีการประชุมชี้แจงกับส่วนราชการ ภาครัฐและเอกชน และได้แจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทราบในที่ประชุม โดย กฟภ.ได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ตัวแทนที่ทำการจำหน่ายไฟฟ้าใน จ.เมียวดี รัฐกระเหรี่ยง  จำนวน 4 จุด ได้แก่ (1) จุดด้านตรงข้าม บ้านห้วยม่วง หมู่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก  ขนาด 8 Magawatt (MW.)  (2) จุดตรงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ขนาด 5 MW.  (3) จุดตรงข้าม บ้านวังผา หมู่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตากขนาด 8 MW. (4) จุดตรงข้าม บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง หมู่ 4 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ขนาด 10 MW.   ซึ่งปัจจุบัน จุดที่ 3 (บ้านวังผา) และ จุดที่ 4 (บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง) ซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่มทุนจีนได้เข้ามาเช้าพื้นที่ พัฒนาเป็นเมืองใหม่ ได้หมดระยะเวลาสัมปทาน และ ทาง กฟภ.ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ว่าจะไม่มีการอนุญาตให้ต่อสัมปทานซื้อขายไฟทั้ง 2 จุดอีก จึงขอให้ กฟภ.ระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งทาง กฟภ.  ได้ดำเนินการระงับตามสัญญา ตั้งแต่คืนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบ อย่างไรก็ตามหน่วยงานดานความมั่นคง ทหาร-ตำรวจ- ปกครอง ในพื้นที่ก็ได้เตรียมวางมาตรการต่างๆไว้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

รายงานข่าวแจ้งว่า  ในด้านของ หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยมีความเห็นตรงกันในการประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่อไทยเบื้องต้น คือ  กฟภ.จำหน่ายกระแสไฟฟ้าไม่ได้ก็ทำให้ขาดรายได้ไปบ้าง  ในส่วนผลกระทบต่อประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนมีน้อยมาก เพราะเดิมชาวเมียนมาที่เป็นคนพื้นเพก็เคยอยู่กันแบบไม่มีไฟฟ้าใช้มานานจนสามารถปรับตัวให้ดำรงชีพได้ในระยะยาว แต่จะมีผลกระทบต่อกลุ่มคนจีน และชาวต่างชาติ ที่เข้าไปอาศัยและทำงานในพื้นที่ดังกล่าว   ส่วนผลกระทบด้านสาธารณูปโภคต่อกลุ่มทุนจีนในพื้นที่  จ.เมียวดี  (จุด 4) และ พื้นที่เช้าพัฒนาเมืองใหม่ของทุนจีน บ้านส่วยโก๊ะโก่  จ.เมียวดี  (จุด 3) โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิง หลายประเภท ที่ใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น เครื่องทำความเย็น ตู้แช่อาหารใช้งานไม่ได้ จากนั้นจะเกิด กลุ่มแรงงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มคนจีน/ทุนจีน อาจอพยพหนีออกมา หาช่องทาง หรือพื้นที่รองรับแห่งใหม่ ซึ่งอาจจะข้ามมาใช้พื้นที่ อ.แม่สอด เป็นที่ประกอบการแห่งใหม่ 

โดยหน่วยงานด้านความมั่นคง คาดว่าอาจจะเกิดปัญหาการลักลอบข้ามแดนในรูปแบบต่างๆทั้งถูกและผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น  ซึ่งฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้มงวด เนื่องจากที่ผ่านมาพบกลุ่มคนจีน/ทุนจีน ใช้เอกสารเดินทางปลอมบ่อยครั้ง จึงจำเป็นเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบ  และมีการคาดการณ์ว่าปัญหาการขาดกระแสไฟฟ้าน่าจะกระทบกลุ่มทุนจีนระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะมีข่าวสารว่า กลุ่มทุนจีนเอง ก็มีการเตรียมจัดหาเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้ทดแทนมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อ กฟภ.ทำการตัดกระแสไฟฟ้า ในพื้นที่ดังกล่าว ก็อาจจะมีกระแสไฟฟ้าสำรอง แต่อาจมีกระแสไม่พอบ้าง และเชื่อว่าจะมีการจัดซื้อทดแทน จะมีผลกระทบระยะแรกเท่านั้น    นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องที่ พื้นที่ตัดกระแสไฟฟ้าเป็นพื้นที่ ชกน.ติดอาวุธ อาจตอบโต้ไทย โดยการปิดท่าข้ามธรรมชาติ ในพื้นที่อิทธิพลของตน  ซึ่งประเด็นดังกล่าวหลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะกระทบต่อการส่งออกเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่ใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นหลัก