ศอ.บต. หารือสถาบันการศึกษา เร่งช่วยเหลือ นศ.ไทยที่กลับจากซูดานสาขาแพทยศาสตร์ 31 คน

ศอ.บต. หารือสถาบันการศึกษา เร่งช่วยเหลือ นศ.ไทยที่กลับจากซูดานสาขาแพทยศาสตร์ 31 คน





ad1

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับศูนย์ราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา (แพทยศาสตร์) โดยมีศาสตร์จารย์เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ผู้แทนสถานบันการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตัวแทนนักศึกษาไทยจากซูดาน คณะแพทยศาสตร์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา ศอ.บต /ผ่านระบบ Video Conference

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงปัญหาและอุปสรรคของนักศึกษาไทยที่กลับจากซูดานในสาขาแพทยศาสตร์หลังเผชิญเหตุสงครามกลางเมืองในห้วงที่ผ่านมาได้แก่ 1. การขาดใบรายงานผลการศึกษา (Transcript) 2. ค่าใช้จ่ายในการขอย้ายสถาบันการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง (กรณีย้ายไปสถาบันฯ ในประเทศเดียวกันที่มีค่าธรรมเนียม จำนวน 2,500 บาท และย้ายไปสถาบันฯในประเทศอื่นจำนวน 20,000 บาท) ซึ่งก่อนหน้านี้นักศึกษาได้ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการยื่นเรื่องให้รับรองปริญญาของสถาบันผลิตแพทย์ต่างประเทศแล้วจำนวน 15,000 บาท 3.หลักสูตรแพทยศาสตร์แต่ละมหาวิทยาลัยแตกต่างกัน 4.ขาดใบรองรับการเรียนจบระดับชั้น Pre – Clinic 5.ขาดใบรังรองจบระดับ Clinic ซึ่งมีความสำคัญในการกลับมาสอบเพื่อรับการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา และ6.การับรองหลักสูตรระหว่างแพทยสภาไทยกับมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ในซูดาน

นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร กล่าวถึงความคืบหน้าในการหารือร่วมกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในซูดานถึงแนวทางการช่วยเหลือระบบฐานข้อมูลของนักศึกษายังสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้มีการแบ่งฐานข้อมูลไว้ที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อกังวลในเรื่องของเอกสารต่าง ๆทางมหาวิทยาลัยจะมีการดำเนินการให้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ในเร็ว ๆ นี้  และเมื่อได้รับการดำเนินการแล้วเสร็จจนได้การรับรองจากมหาวิทยาลัยจะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องแจ้งชื่อ นามสกุล ตามรายละเอียดในหนังสือเดินทางให้ครบถ้วนถูกต้อง พร้อมรายละเอียดด้านการศึกษา โดยให้สมาคมนักศึกษาไทยในซูดานเป็นหน่วยรวบรวมข้อมูล ส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัย อีกทั้งขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพิจารณาคอร์สเรียนออนไลน์ให้กับนักศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาเพื่อให้สามารถศึกษาต่อผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องดูสถานการณ์ในประเทศซูดานด้วย

ด้านศาสตรจารย์เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวด้วยว่า การเรียนออนไลน์นั้นมองว่าไม่น่าจะตรงตามหลักสูตรเนื่องนักศึกษาสาขาแพทยศาสตร์จะต้องมีการฝึกอบรมร่วมกับคนไข้ตัวต่อตัวที่เป็นภาคปฏิบัตินอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียนและระบบออนไลน์ แต่ทั้งนี้จะต้องการเทียบหลักสูตรกันก่อนว่าตรงกันมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งอยากให้ศอ.บต.รวบรวมข้อมูลความต้องการของนักศึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อให้มหาวิทยลัยสามารถเข้าถึงตัวนักศึกษาได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่นางสาว นูรอานีดา อาแวกอแด นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาแพทยศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลไทยกำลังหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อให้สำเร็จการศึกษาตามที่หวังไว้ ซึ่งที่ผ่านมารู้สึกเป็นกังวลมากกลัวจะไม่มีที่เรียนและเรียนไม่จบ อีกทั้งหากจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอื่นนอกจากซูดานจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นเรียนใกล้บ้านดีกว่าเพราะจะได้เดินทางสะดวกและดูแลคนที่บ้านด้วย เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะเร่งดำเนินการอย่างสุดความสามารถและเร็วที่สุด

ในการนี้นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ศอ.บต. จะเร่งรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อนำเสนอไปยังแพทยสภาในการหาแนวทางการช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้นักศึกษากลุ่มนี้กลับมาเรียนได้ตามปกติจนสามารถสำเร็จการศึกษาได้ต่อไป