PINTU GERBANG เบตง ชนะเลิศ ประกวดซุ้มประตูของ ศอ.บต.

PINTU GERBANG เบตง ชนะเลิศ ประกวดซุ้มประตูของ ศอ.บต.





ad1

PINTU GERBANG เบตง ชนะเลิศ ประกวดซุ้มประตูของ ศอ.บต. ด้าน เลขาธิการ ศอ.บต. เผย แขวนกลิ่นอายมลายู สื่อถึงจิตวิญญาณและความศรัทธา ผ่านการออกแบบ ย้ำ รัฐพร้อมหนุนทุกศาสนา โดยไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบรางวัลซุ้มประตู หรือ PINTU GERBANG จากการประกวด PINTU GERBANG ในผลงานที่ประชาชน จชต. รังสรรค์ซุ้มประตูในแต่ละมัสยิด เพื่อต้อนรับเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี และการสิ้นสุดลงของเดือนรอมฎอน มีผลงานเข้าสู่รอบสุดท้าย จำนวน 5 ซุ้ม โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มัสยิดอิตีฮาดุลอุมมะฮ์ บ้านนันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ มัสยิดนูรุลอิสลามบาโง บ้านบาโง ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ. ปัตตานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้แก่ มัสยิดอัลเราะห์มานีย์ บ้านตะโละไกรทอง  ต.ตะโละไกรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ในส่วนของรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่มัสยิดอาบีบากัรอัลซิดดิก บ้านอาแว ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และมัสยิดอะดันุลอิสลามียะห์ บ้านจาเราะสโตร์ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ประเพณี วัฒนธรรมความสามัคคีและความภาคภูมิใจในตัวตนของพี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยึดโยงกับเชื้อชาติ ศาสนาด้วยความศรัทธา แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีพี่น้องชาวพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ทั่วทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และความสวยงามในความแตกต่าง อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีค่า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐพร้อมหนุน และส่งเสริมความเชื่อและอัตลักษณ์ในทุกพื้นที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ซุ้มประตูที่สร้างมาด้วยความสามัคคีของคนในชุมชน แขวนกลิ่นอายของวัฒนธรรมและความเชื่อของมลายู ถูกรังสรรค์ให้บ่งบอกถึงวิถีของแต่ละพื้นที่ผ่านลวดลาย โดยการใช้สี วัสดุ และสร้างรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ให้รู้ถึงความเชื่อและความเป็นไปของแต่ละสถานที่ อย่างไรก็ดี ซุ้มประตู อาจหมายรวมถึงจิตวิญญาณและความศรัทธาที่ถูกหล่อหลอม ออกแบบ วัฒนธรรมของพี่น้องมลายู สร้างความภาคภูมิใจของความเป็นตัวตน ที่เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน การสื่อสารและแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน อย่างภาคภูมิใจ

ด้านผู้แทนคณะกรรมการตัดสินฯ กล่าวว่า การสร้างซุ้มประตูของพี่น้องในพื้นที่ เป็นความสามัคคีของพี่น้องในชุมชนนั้นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการประกวด ดังนั้นสิ่งสำคัญในการตัดสินนอกจากความสวยงามแล้ว คือ ความรัก ความสามัคคีที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยซุ้มประตูมัสยิดอิตีฮาดุลอุมมะฮ์ บ้านนันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เป็นซุ้มประตูที่มาจากการทำประชาคม การร่วมคิดและตัดสินใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีการลงมติในการวาดลวดลาย การเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นในการบอกเล่าความเป็นชุมชนผ่าน PINTU GERBANG คณะกรรมการให้ความสนใจในส่วนนี้เป็นอันดับแรก

จากนั้นมีการพิจารณาในเรื่องของความสวยงาม มุมที่มองเข้าไปในซุ้ม รูปทรงที่สื่อถึงความเป็นมาลายู อีกทั้งซุ้มประตูที่เบตง ยังได้รับการกดไลค์เป็นอันดับ 1 ในเพจเฟสบุ๊คของศอ.บต. อีกด้วย ทั้งนี้ จากความสวยงามดังกล่าว ขณะนี้ส่งผลให้พื้นที่บริเวณโดยรอบของซุ้มเกิดเศรษฐกิจเล็กๆ มีการตั้งซุ้มค้าขายของคนในพื้นที่ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาเที่ยวชมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลงานส่งเข้าประกวดซุ้มประตู หรือ PINTU GERBANG ในปี 2566 มีจำนวน 31 ซุ้ม มีคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้แทนสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัด ประธานอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ร่วมกันคัดเลือกและพิจารณาตามหลักเกณฑ์