น่าน “ดอยซิลเวอร์”ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น “เครื่องเงินและปักไหม”ยกระดับปราญช์หัตถกรรมสู่งานดีไซน์ต่อยอดวัฒนธรรม

น่าน “ดอยซิลเวอร์”ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น “เครื่องเงินและปักไหม”ยกระดับปราญช์หัตถกรรมสู่งานดีไซน์ต่อยอดวัฒนธรรม





ad1

เครื่องประดับ ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ หรือส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ควบคู่ไปกับการแต่งกาย ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้ที่สวมใส่ให้ดูดี และเกิดความน่ามองยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสะท้อนถึงรสนิยมของผู้สวมใส่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องประดับที่มีดีไซน์ และรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ที่แปลกตา ไม่ซ้ำกับใคร  จึงทำให้ปัจจุบันมีความนิยมเครื่องประดับในรูปแบบต่างๆกันมากขึ้น

ซึ่งจังหวัดน่าน ถือเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่อง “เครื่องประดับเงิน” ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ  ด้วยคุณภาพของเนื้อเงิน ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์จากฝีมือช่าง ที่ต่างก็มีการนำลวดลายโบราณมาประยุกต์ พัฒนาต่อยอดทางความคิด รูปแบบลวดลายให้มีความร่วมสมัย หรือการนำเรื่องราวต่างๆ รอบตัว มาสร้างแรงบันดาลใจและเติมสีสันให้แก่ชิ้นงานมากยิ่งขึ้น

อย่างที่ ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่   อ.ปัว จ.น่าน ที่ได้สืบสานศิลปหัตถกรรมเครื่องประดับเงิน จากบรรพบุรุษรุ่นปู่ สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลานมายาวนานมากกว่า 70 ปี  และด้วยประสบการณ์ด้านเครื่องเงิน และทีมช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับเงินมากกว่า 200 คน  ทำให้ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินแห่งนี้  มีการพัฒนางานหัตถกรรม เติมความคิดสร้างสรรค์  ให้มีความร่วมสมัย เข้ากับวิถีชีวิต และความต้องการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

“คุณก้อย พิมพร รุ่งรชตะวาณิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด”   เล่าว่า เครื่องประดับเงินทุกชิ้นเป็นงานฝีมือจากช่างเครื่องเงินชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อิ๊วเมี่ยน หรือเย้า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมา จากรุ่นสู่รุ่นต่อกันมานานนับศตวรรษ  ด้วยความเชี่ยวชาญ และทักษะของช่าง ได้รังสรรค์ให้ทุกชิ้นงานเสมือนมีชีวิต สะท้อนถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นสินค้าเครื่องเงินที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ต้องการของลูกค้าคนไทย และลูกค้าต่างชาติ ในสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, ไต้หวัน และฮ่องกง   ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนมาโดยตลอด

ปัจจุบันเรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นนักศึกษาของกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง น่าน ที่มาช่วยสร้างสรรค์งานหัตถกรรม  พัฒนาต่อยอดทางความคิด รูปแบบลวดลายให้มีความร่วมสมัยตลอด   และขณะนี้เตรียมสร้างสรรค์งานปักผ้ามาประยุกต์ร่วมกับงานเครื่องเงิน  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมกับทาง อพท.6 ซึ่งกำลังผลักดันให้จังหวัดน่านได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก   จึงมีแนวคิดนำงานปักผ้า ซึ่งผู้หญิงชาวอิ๊วเมี่ยน หรือเย้า มีความชำนาญ มาอยู่คู่กับเครื่องประดับเงิน  ให้มีดีไซน์ร่วมสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตชาวอิ๊วเมี่ยน  และสามารถสวมใส่ได้ในทุกๆ โอกาส  สำหรับจุดเด่น คือลูกเล่นของงานดีไซน์ ที่นำเครื่องประดับเงินมาตอกรูแล้วนำเส้นไหมมาปักเป็นลวดลายต่างๆลงไป เพิ่มความแปลกใหม่ และสนุกสนานยิ่งขึ้น โดยสินค้ามีให้เลือกทั้งกำไล สร้อยข้อมือ และ ต่างหู

นางสาวปิยมาศ หอดดอก  นักศึกษากาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง น่าน  บอกว่า  การปักไหมลงบนเครื่องประดับเงิน เป็นเทคนิคใหม่ ส่วนตัวชอบเพราะดูทันสมัย แต่ก็ประณีต และให้ความรู้สึกที่สะดุดตาด้วยสีสันของเส้นไหมที่ปักออกมาเป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งน่าจะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามนอกจากสร้างสรรค์สินค้างานฝีมือ และผลิตช่างฝีมือเครื่องเงินแล้ว ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ ยังหวังให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในธุรกิจ ช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกัน  และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการสร้างโอกาส สร้างอาชีพทางเลือกและรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับคนในชุมชนชนบท ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน โดยไม่กระทบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมด้วย