สสส.จัดเวที"สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" ปี 2566

สสส.จัดเวที"สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" ปี 2566





ad1

ภาคีเครือข่าย กว่า 500 ตำบลทั่วไทย กว่า 4,000 คน จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ: พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ ขับเคลื่อนผู้นำชุมชน-ผลักดันนโยบายครอบคลุม สู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 ก.ค ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดงาน เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 เป็นประธาน

ดร.สาธิต กล่าวว่า ขอชื่นชม สสส.ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันจัดเวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ขึ้นเป็นปีที่ 12 นับเป็นพลังสำคัญสำหรับการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน ด้วยการเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย ระดับประเทศ ระดับนานาชาติ เชื่อมั่นว่าเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีสมาชิกกว่า 500 ตำบล จนเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ วิถีปฏิบัติ มุ่งใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา ให้สุขภาวะชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย 1. สร้างการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ให้ประเทศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน 2. สร้างสังคมสุขภาวะให้กับชุมชน ด้วยภาคีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ท้องถิ่น ท้องที่ รพ.สต. อสม. ผู้นำชุมชน และ 3. สร้างการมีส่วนร่วมด้วยการระดมทรัพยากร เพื่อสร้างสุขภาวะท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สสส.และภาคีเครือข่าย ที่ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพตลอด 20 ปี สร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี เวทีนี้เป็นพลังของการใช้ศักยภาพชุมชนท้องถิ่น มุ่งสนับสนุนกลไกให้เกิด ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใน 6 ปัจจัยสำคัญ 1. ผู้นำมีทักษะ สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 2. กลไกขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ 3. นโยบายสาธารณะ และมาตรการทางสังคม สามารถสร้างรูปธรรมแสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 4. แนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม และมีคุณภาพ 5. ระบบข้อมูล เครื่องมือทางวิชาการที่มีคุณภาพ และ 6. ระบบบริการสาธารณะครอบคลุม เข้าถึง และมีคุณภาพ เพื่อทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนสุขภาวะชุมชน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อว่าความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเป็นทุนทางสังคม และศักยภาพให้กับทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกตำบล เป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญคือ 1. สานพลัง ทั้ง 4 สาน 1. พลังพื้นที่ 3,526 ตำบล 2. พลังผู้นำ 397,771 คน 3. พลังนวัตกรรม ทั้งเชิงระบบ กระบวนการ เทคนิค 4. องค์กรเป็นโครงข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรร่วมพัฒนาเอกชน 2. สร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนเป้าหมายหลัก 7 ประเด็น ยาสูบ แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงอื่น 3. สร้างสังคมสุขภาวะ นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่สอดประสานกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ

“ขอชวนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น ร่วมเดินทางสู่ทศวรรษที่สามของ สสส. โดยเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ได้แก่ การสร้างรูปแบบชุมชนเข้มแข็งที่รองรับชุมชนที่หลากหลายกว่าเดิม ทั้งความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ระดับต่างๆ จากฐานหลักที่ตำบลในปัจจุบัน สู่หมู่บ้าน อำเภอจังหวัด มหานคร พัฒนาหลากหลายทางเข้า โดยอาจมี “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” นอกเหนือจากผู้นำท้องถิ่นท้องที่ก็ได้ ถ้ามีความเหมาะสม  “กลไกสนับสนุน” ปรับตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตใหม่ ปัญหาสุขภาวะใหม่รวมถึงดึงคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นแกนนำ และโดยปรับตามเทคโนโลยี ดิจิตอล และท้ายสุด ด้วยการพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพจากชุมชนที่เข้มแข็งที่วัดได้จากระบบฐานข้อมูลที่วางไว้” ดร.สุปรีดา กล่าว