“เศรษฐา” ยิ้มร่าตัดเกรดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เต็ม 10 ให้ 11 คะแนน ยืนยันแหล่งเงินมีแน่

“เศรษฐา” ยิ้มร่าตัดเกรดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เต็ม 10 ให้ 11 คะแนน ยืนยันแหล่งเงินมีแน่





ad1

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง นัดแรก พร้อมด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ทุกแห่ง โดยมอบหมายนโยบายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการประชุม 

 นายเศรษฐา กล่าวต่อผู้สื่อข่าว ภายหลังการประชุมว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จะดำเนินการในเรื่องใดบ้าง โดยกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ต้องสนับสนุนในทุก ๆ เรื่อง ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1.การทำนโยบายจะมีการใช้งบประมาณสูง ดังนั้น เรื่องวินัยการเงินการคลัง ต้องมีความสำคัญมาก สามารถตอบสังคมได้ว่า คลังนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องใด และในระยะยาวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไร ในระดับใดที่มีความเหมาะสม

 2.ได้ให้นโยบายผู้บริหารเรื่องวิธีการทำงาน เรื่องของความเป็นธรรมในการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่เราบริหารจัดการราชการ เรื่องระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ระบบการปูนบำเหน็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นใจข้าราชการ หลายท่านทุ่มเทการทำงาน เพื่อหวังเลื่อนตำแหน่งใหญ่ การทำงานถ้ามีผลงานที่ดี ก็ควรได้รับการปูนบำเหน็จที่เหมาะสม วิธีการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจากนักการเมืองที่ใช้เส้นสาย หรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย เข้ามาใช้อิทธิพล ในฐานะรมว.คลัง ก็จะช่วยเหลือข้าราชการ และจำเป็นเกราะกำบังให้ข้าราชการทั้งหมด ทำงานได้อย่างสบายใจ และมีประสิทธิภาพ

“กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไร และนโยบายรัฐบาลหลาย ๆ เรื่อง ที่ต้องออกมา อาจจะเจออุปสรรคบ้าง จะมีวิธีการแก้ไข และวิธีการทำงานอย่างไร”

 นายเศรษฐา กล่าวว่า การกู้เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งการกู้เศรษฐกิจ ก็เป็นการเพิ่มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จีดีพีก็จะเพิ่มขึ้น แต่หนี้ก็จะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนจีดีพีที่เพิ่มสูงกว่า ก็จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะ ไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งรัฐบาลก็มีความตั้งใจ อยากให้เป็นแบบนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว บางนโยบาย เช่น พักหนี้เกษตรกร ที่มีการดำเนินการมาแล้ว 13 ครั้ง ในรอบ 9 ปี ก็ยังจำเป็นต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งตระหนักดีว่าการพักหนี้ ถ้าไม่ทำควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาวให้เกิดขึ้น รัฐบาลต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพราะถือว่าเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มาก การพักหนี้จึงเป็นเพียงมาตรการแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ

 “การแก้ไขปัญหาหนี้ จะมีการคุยกันต่อ เราทำอะไรได้ เราจะทำก่อน ผมไม่อยากคอยให้ครบหมดทุกภาคส่วนแล้วค่อยประกาศ แต่อะไรที่ทำได้ ทำก่อน ประกาศก่อน บางภาคส่วนจะได้สบายใจ ส่วนหนี้อื่น ๆ เดี๋ยวจะไปดูแลมานำเสนออีกครั้ง ผมเข้าใจและตระหนักในปัญหาของทุกภาคส่วน”

 ทั้งนี้ รมช.คลัง ทั้ง 2 คน อยู่ระหว่างพิจารณาว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีมาตรการช่วยเหลือใหม่ ๆ ออกมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในแง่ของการบรรเทาหนี้ ให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เมื่อมีการดำเนินการที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นกรุงไทย ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ได้มอบหมายว่าให้ไปดูว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไรบ้าง โดยไม่ทำให้วินัยการเงินการคลังเสียไป

 นายเศรษฐา กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า คลังยืนยันว่าแหล่งเงินมีแน่นอน โครงการนี้เกิดขึ้นแน่นอน ทำได้แน่นอน แต่ขอเวลาพิจารณา คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะได้ข้อสรุป และชี้แจงให้รับทราบว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้ในโครงการจะมาจากไหน ปัจจุบันไม่อยากพูดไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ชัดเจน ถ้าเกิดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะถูกกล่าวหาว่าไม่ชัดเจนอีก อยากให้ใจเย็น ๆ ซึ่งมีหลายทางเลือก ต้องไปพิจารณาว่าทางไหนเหมาะสมที่สุด และมีผลกระทบในวงกว้างน้อยที่สุด

 “เราจะใช้ข้อมูลดาต้าเบสจาก แอพพลิเคชันเป๋าตัง เพราะผ่านการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้จะมีการเขียนบล็อกเชนมากำกับ”

 ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้คะแนนความสำเร็จโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เต็ม 10 รัฐบาลจะให้กี่คะแนน นายเศรษฐา กล่าวว่า 11 ครับ

 นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ส่วนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ จากการหารือกับข้าราชการกระทรวงการคลัง ก็รับฟังปัญหา ในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งบางประเด็นก็ต้องนำไปพิจารณาต่อไป แต่ยืนยันว่าการจ่าย 2 รอบเป็นเพียงทางเลือก สามารถเลือกได้ว่าจ่าย 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งต่อเดือนก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน ยืนยันว่ากรมบัญชีกลางไม่ได้ติดขัด แต่อาจต้องขอเวลาการพิจารณาเรื่องระบบการจ่ายเงินเดือนก่อน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ต้นปี 2567 เหมือนเดิม