พายุไม่ช่วย!เขื่อน 27 แห่งโคราชยังวิกฤติมีน้ำกักเก็บไม่ถึง 40%

พายุไม่ช่วย!เขื่อน 27 แห่งโคราชยังวิกฤติมีน้ำกักเก็บไม่ถึง 40%





ad1

นครราชสีมา-พายุไม่ช่วย น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อย โคราชหวั่นแล้ง ปริมาตรน้ำเก็บกักน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว มีน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำ 27 แห่ง เหลือไม่ถึงร้อยละ 40 ชลประทาน เตือน ปชช.รับมือเอลนีโญ เก็บสำรองน้ำทุกครัวเรือน

เมื่อวันที่  27 กันยายน 2566  ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้ออกประกาศฉบับที่ 9 (50/2566) โดยระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง โดยจังหวัดนครราชสีมา มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่  และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าวทำให้มีฝนตกชุกในช่วงนี้ แต่ขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำฝนไหลลงน้อย โดยปริมาณน้ำฝน-น้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยวันนี้ตรวจวัดได้ที่ 1,282 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 ตรวจวัดได้ที่ 291 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 22.67 % เท่านั้น ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาตรน้ำรวมปัจจุบัน คงเหลือใช้การได้แค่ 341.87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 40.31 %  ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมเหลือใช้การได้ 103.22 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 33.71 %  โดยมี 8 แห่งที่มีน้ำใช้การได้ไม่ถึง 30 %

ทำให้ปริมาตรน้ำเก็บกักภาพรวมทั้ง 27 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกักปัจจุบัน เหลืออยู่ที่ 507.58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 41.72 % และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 445.10 ล้านลูกบาศก์เมตร  หรือ 38.56 % เท่านั้น เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ  ทำให้ฝนทิ้งช่วงนาน และปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เมื่อเทียบปริมาตรน้ำเก็บกักในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ปีนี้ มีปริมาตรน้ำเก็บกักน้อยกว่าปี 2565 เกือบเท่าตัว  โดยปี 2565 มีปริมาตรน้ำเก็บกัก อยู่ที่ 968.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 79.61 % และเป็นน้ำใช้การได้ 906.13 ล้านลูกบาศก์เมตร  หรือ 78.50 %  อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า เอลนีโญจะมีกำลังแรงขึ้นช่วงปลายฝนนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนปีหน้า ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และอาจเกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่

จากการลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำฉมวก หนึ่งในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.นิคม อ.พิมาย และ อ.ห้วยแถลง พบว่า มีปริมาณน้ำคงเหลืออยู่ที่ 8.76 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37.39 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 7.51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 33.85 % ซึ่งแม่ช่วงนี้จะมีพายุและลมมรสุมพัดผ่านเข้ามาในจังหวัด แต่กลับมีฝนตกในพื้นที่นี้น้อยมาก ชาวบ้านใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.จักราช อ.พิมาย และ อ.ห้วยแถลง ที่ใช้น้ำร่วมกัน ต่างกังวลว่า ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำลำฉมวก อาจจะมีไม่เพียงพอที่จะใช้ผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ใช้สอยในช่วงฤดูแล้งของปีหน้า ทางเจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง จึงงดปล่อยน้ำให้กับเกษตรกร เพื่อสงวนปริมาณน้ำเก็บเอาไว้ใช้ให้เพียงต่อการอุปโภค-บริโภคไปจนกว่าจะถึงฤดูฝนปีหน้า .

โดย..ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา