บพท. จับมือ จุฬาฯ หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเมืองน่าน

บพท. จับมือ จุฬาฯ หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเมืองน่าน





ad1

บพท. จับมือ จุฬาฯ หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเมืองน่าน  ชูเทคโนโลยีการผสมเทียม แอพพลิเคชั่น Mor  More  เพิ่มขีดความสามารถตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด สร้างเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน

น่าน-หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที “การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น  ด้วยความรู้และนวัตกรรม “จังหวัด เพื่อนำเสนองานวิจัย ”การพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกร กลไกความร่วมมือ และขยายโอกาสทางการตลาดโคเนื้ออย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน”  โดยหนุนเสริมความรู้และเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค 245 ครัวเรือน ในพื้นที่ 17 ตำบล 10 อำเภอ จากทั้งหมด 15 อำเภอของจังหวัดน่าน  ซึ่งมีตัวแทนภาคเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ  นักวิชาการสถาบันการศึกษา  ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและปศุสัตว์  รวมทั้งสื่อมวลชน   เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัย จำนวนกว่า  70 คน  เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย. 2566  ณ  ห้องประชุม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ต.ผาสิงห์  อ.เมือง  จ.น่าน

ผศ.น.สพ.ดร.วินัย  แก้วละมุล  อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า  งานวิจัยนี้ เป็นการต่อยอดและขยายผลมาจากโครงการ “การพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน” เมื่อปี 2563 ที่มุ่งแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อในระดับต่ำ เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้  ขาดบุคลากรและกระบวนการจัดการเรื่องผสมเทียมโคเนื้อ    ซึ่งผลดำเนินการ ส่งผลให้มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงโคเนื้อ การรวมกลุ่มนักผสมเทียมในพื้นที่น่าน และจัดตั้งกองทุนการผสมเทีมโคเนื้อขึ้น   มีการให้บริการการผสมเทียมโคเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตลูกโคที่มีพันธุกรรมที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วและตรงตามความต้องการของตลาด   ทำให้เกษตรกรยอมรับการผสมเทียมมากขึ้นและสามารถวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด  ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับงานวิจัยต่อเนื่องนี้  เน้นการสร้างกลไกกระบวนการพัฒนาโคเนื้อของจังหวัดน่านให้เป็นรูปธรรม โดยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ใช้ความรู้และเทคโนโลยีการผสมเทียม แอพลิเคชั่น Mor More  เทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการเป็นสัด ความรู้ด้านสุขภาพสัตว์ อาหารสัตว์  เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ นวัตกร  ทั้งระดับชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวม 92 คน  เป็นกลไกสำคัญที่ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีและดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ใน 17 ตำบล พื้นที่ 10 อำเภอของจังหวัดน่าน

นาง อชิตรัตน์  ต๊ะชุ่ม ประธานวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อำเภอนาน้อย  (แปลงใหญ่โคเนื้อนาน้อย)  เล่าว่า  ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ประสบปัญหาเรื่องราคาการขายตกต่ำ  เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดน่านไม่มีโรงเชือดโรงชำแหละโค ทำให้พ่อค้าคนกลาง เข้ามารับซื้อโคและลูกโคเป็นตัว ซึ่งให้ราคาเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องยอมขายขาดทุนไม่มีกำไร  โดยทีมวิจัยของจุฬาฯ ได้เข้ามาสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี ต่างๆ  ทำให้มีการวางแผนตั้งแต่การเลี้ยงผลิต ไปจนการแปรรูปและช่องทางการตลาด และมีอำนาจในการต่อรองราคาการซื้อขายมากขึ้น เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งหากโรงเชือดโรงชำแหละที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จะยิ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อด้วย

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม  รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. กล่าวว่า  จังหวัดน่าน มีศักยภาพอย่างมาก ทั้งภาคการท่องเที่ยว และ ภาคการเกษตร โดยกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เปิดรับองค์ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง  ขณะที่ภาคส่วนต่างๆให้การสนับสนุนแบบมีส่วนร่วม  ขณะนี้ดำเนินการใน 17 ตำบล 10 อำเภอ ทั้งนี้เพื่อยกระดับมูลค่าโคเนื้อแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต  ด้านราคา  การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และ ช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง และสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานรากให้กับเกษตรกรในจังหวัดน่าน  รวมทั้งสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อำเภอนาน้อย  และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อ บ้านศรีอุดม อ.เชียงกลาง   เป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี  ให้กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนด้วย

สำหรับการขยายผล ต้องใช้กลไกหลัก คือ นวัตกรชุมชน ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และเอาความรู้ลงสู่กลุ่มเกษตรกรและชุมชน และการต่อยอดของงานวิจัยนี้ คือการยกระดับมูลค่าโคเนื้อ ทั้งราคา  ตลาด และ ผลิตภัณฑ์แปรรูป  เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดน่านมีศักยภาพ เมื่อมีการจัดการด้วยเทคโนโลยีและความรู้วิชาการ ก็สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ   ซึ่ง บพท. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่  คือการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สังคม ท้องถิ่น ด้วยความรู้และนวัตกรรม ขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์หนุนเสริมและเชื่อมโยงกลไกการทำงาน ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ  หน่วยงานท้องถิ่น  เพื่อสร้างกลไกในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง เกิดการบูรณาการและเป็นการพัฒนาด้วยกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

ระรินธร   เพ็ชรเจริญ   รายงาน