ศึกเลือกตั้งกรรมการกองทุนฟื้นฟูภาคใต้คึกคัก

ศึกเลือกตั้งกรรมการกองทุนฟื้นฟูภาคใต้คึกคัก





ad1

ศึกเลือกตั้งกรรมการกองทุนฟื้นฟูภาคใต้คึกคัก สมัคร 23คน มีผู้ชนะ 4 คน  พัทลุง เขต อ.ตะโหมด 2 คน แจงนโยบาย รับซื้อหนี้เกษตรกร จากสถาบันการเงิน ทั้งในระบบนอกระบบ  และหาเงินมาส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกร

ตามที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในสัดส่วนของผู้แทนเกษตรกร จำนวน 20 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 และกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร ภายใน 90 วันหลังครบวาระ จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรใน 4 ภูมิภาคซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ  ได้มีมติเห็นชอบแผนบริการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2566 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามประกาศ จำนวน 4 ฉบับ

ประกาศเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2566 ประกาศเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง สถานที่รับเลือกตั้ง ประกาศเรื่องกำหนดจำนวนผู้แทนเกษตรกรที่จะพึงมีในแต่ละภูมิภาค โดยมีกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น. และเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 15.00 น.

สำหรับคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการฟื้นฟูฯ พิจารณาเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ กำหนดนโยบายและอออกระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯสำนักงานกองทุนฟื้นฟู มีเกษตรกรสมาชิกที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 5.2 ล้านคน เพื่อจะได้มีผู้แทนของเกษตรกร 

นายอรุณ ไพชำนาญ ประธานคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง และรองประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ รองประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า กรรมการของทุนฟื้นฟูและพัฒนาภาคใต้สมัยนี้จะมีจำนวน 4 คน และสำหรับผู้สมัครสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ  ที่มีตัวแทนจากองค์กรสถาบันเกษตรกรสมัครเข้าจะเป็นตัวแทนสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จากสถาบันเกษตรกร 14 จังหวัดภาคใต้ และได้มีผู้สมัครจำนวน 23 คน โดยเฉพาะ พัทลุง อ.ตะโหมด มีผู้สมัคร จำนวน 2 คน

“สำหรับตนมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกระบบ ทั้งในระบบกับสถาบันการเงิน สถาบันเกษตร สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ที่เกษตรกรเป็นหนี้ และนอกนั้นที่เป็นหนี้นอกระบบก็จะมีการผลักดันเข้าไปแก้ไขในกองทุนฟื้นฟูฯ ด้วย เพื่อให้กองทุนฟื้นฟู ฯ เข้ามารับซื้อหนี้สิน สำหรับในกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด กองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับซื้อหนี้ไปแล้วจำนวน 3 ราย”

นายอรุณ กล่าวอีกว่า ยังผลักดันนโยบายจัดหาทุนมาให้เกษตรกรเพื่อการพัฒนาอาชีพด้วย  ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร

“ผู้ลงสมัครเข้าเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟู ฯ  สมัยนี้จะเห็นว่ามีการตื่นตัวในการหาเสียงกันคึกคักดีมาก มีการใช้รถแห่ เปิดเครื่องกระจายหาเสียงแนะนำ เข้าแนะนำพบปะถึงชาวบ้าน ถึงร้านน้ำชา ถึงตัวบุคคลชี้แจงนโยบายกองทุนฟื้นฟูฯ กับประชาชนถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ  แจกแผ่นโปสเตอร์ ขึ้นป้ายแนะนำตัวตามสถานที่ต่าง ๆ” นายอรุณ กล่าว

การเลือกตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ  ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยตื่นตัว แต่สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มสถาบันเกษตรกรทุกประเภทจะรับทราบและตื่นตัว  บางกลุ่มจะมีการส่งตัวแทนเข้าแข่งขันเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ. 

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ