รพ.ธรรมศาสตร์ฯ Kick off Social Telecare ขยายผลจากรพ.สู่ชุมชนปทุมธานี

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ Kick off  Social Telecare ขยายผลจากรพ.สู่ชุมชนปทุมธานี





ad1

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมกลุ่มเปราะบางแบบไร้รอยต่อ Kick off  สร้างความเข้าใจการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Social Telecare ขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่จากโรงพยาบาลสู่ชุมชนปทุมธานี หวังร่วมกันดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นระบบ มีประสิทธิภาพลดเวลารอคอย

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมกลุ่มเปราะบางแบบไร้รอยต่อที่มารับบริการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติของนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิและขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน  พื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยประชุมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Social Telecare  แบบ Hybrid โดยมีผู้เข้าประชุมเป็นพยาบาล  นักสังคมสงเคราะห์ และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ทั้งภายในและภายนอกกว่า 30 คน ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ  สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  กองทุนสนับสนุนสุขภาพ- สสส. และเครือข่ายทางสังคมในจังหวัดปทุมธานี จะร่วมขับเคลื่อนดูแลกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมคุณค่า และให้บริการประชาชนทุกคนด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

อ.พญ.มัลลิกา  ชวนเสงี่ยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและวิเทศสัมพันธ์  กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีมีทั้งประชากรในพื้นที่ ประชากรแฝง แรงงานอพยพที่เป็นบุคคลสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ มีกลุ่มบุคคลเปราะบางอยู่ค่อนข้างมาก  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พบว่า มีผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางค่อนข้างหลากหลาย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยทารกจนถึงผู้สูงอายุ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง ผู้พิการ ผู้ถูกกระทำความรุนแรง ในครอบครัว เป็นต้น  ในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์  โรงพยาบาลฯจึงมีการพัฒนาระบบการดูแลทางสังคมในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางแบบไร้รอยต่อ (Continuing Social Care) ในโครงการ Social Telecare พัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทำงสังคมกลุ่มเปราะบาง ฯ

โดยการปรับใช้ Digital Platform ระบบ Social telecare เชื่อมโยงระบบปฐมภูมิทางโรงพยาบาลฯต้องประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและครอบครัว และร่วมกันพัฒนาระบบและแนวทางการดูแลทางสังคมในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง  อาทิ ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ งานการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่อง ศูนย์ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Transformation Center) งานบริการสังคม  คณะแพทยศาสตร์ ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์คูคต  รวมถึงบุคลากรภายภายนอกโรงพยาบาล อาทิ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เครือข่ายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เครือข่าย ONE HOME  เครือข่ายกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายกระทรวงแรงงาน เครือข่ายดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายชุมชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และอาสาสมัครสาธารณสุข ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี   

อ.พญ.มัลลิกา  กล่าวว่าครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Social Telecare รวมไปถึงบทบาทการขับเคลื่อนระบบส่งต่อและวางแนวทางการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพในจังหวัดปทุมธานี   โดยคาดหวังว่าเมื่อมีระบบการส่งต่อที่ดี จะสามารถร่วมกันดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นระบบตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดระยะเวลารอคอย ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและใช้แพลตฟอร์ม Social Telecareเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันๆ

ดร.วัชระ อมศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อธิบายถึงผู้พัฒนาเครื่องมือ Social Telecare ให้นักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้   ซึ่ง Social Telecareถือเป็นเครื่องมือการทำงานเพื่อมาแก้ไขการทำงานในช่วงวิกฤตโรคระบาดของโควิด-19 เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ไม่สามารถเข้าไปให้บริการผู้ป่วยในแบบเดิมได้ ทำให้การทำงานในช่วงโรคระบาดดำเนินไปอย่างยากลำบาก จึงได้มีการคิดค้นเครื่องมือ Social Telecare ขึ้นมาเพื่อให้การทำงานในช่วงวิกฤตสามารถดำเนินต่อไปได้ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือมาใช้ร่วมกับทีมสหวิชาชีพอื่น ๆ ในการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงส่งต่อ และเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ เชื่อมต่อระบบ API  และได้แนะนำวิธีการการเข้าถึงแพลตฟอร์ม ต้องสมัครตามระบบ PDPA

ดร.สค.ร.ขนิษฐา  บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์อธิบายเครื่องมือที่มีให้เลือกใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Social Telecare  โดย จำนวน 39 เครื่องมือ ในการดูแลช่วยเหลือทางสังคม เป็นเครื่องมือของนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 7 เครื่องมือ และเครื่องมือของสหวิชาชีพ 32 เครื่องมือ ซึ่งได้รับ EC หนังสือการรับรองจริยธรรมในคน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เลขที่ 005/2567 เมื่อ 24 มกราคม 2567 

สค.ร.ปุณณนิดา  โชติธนินท์  ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์และการทำงานกับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในโรงพยาบาล  และสถานการณ์กลุ่มเปราะบางกับแนวทางการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ  อาทิ สถานการณ์ของผู้สูงอายุที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ดูแลกลุ่มเปราะบาง  ผู้สูงอายุร้อยละ17 ซึ่งจังหวัดปทุมธานี ถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว  การทำงานสังคมสงเคราะห์ของเครือข่ายดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ-LPN มีการประสานงานร่วมกับสถานทูตในการส่งแรงงานกลับประเทศ  

ทั้งนี้ยังดำเนินงานในการผลักดัน ส่งเสริมเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกกระทำทารุณกรรม และถูกใช้ความรุนแรง   สถานการณ์ของศูนย์คนไร้ที่พึ่งชาย และศูนย์คนไร้ที่พึ่งหญิงดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชชาย-หญิง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีช่วงวัยที่หลากหลาย   และสถานการณ์ของสถานสงเคราะห์กึ่งวิถีชาย และสถานสงเคราะห์บ้านกึ่งวิถีหญิง  เป็นผู้ป่วยกลุ่มนี้กำลังเป็นผู้สูงอายุ ร้อยละ 53 และร้อยละ 23 ตามลำดับ  ซึ่งมีความท้าทายในการจัดบริการ