เปิดเส้นทางท่องเที่ยว “สำพะเนียง”ที่เดียวจบครบ ชิล ช้อป ชิม มูฯ

เปิดเส้นทางท่องเที่ยว “สำพะเนียง”ที่เดียวจบครบ ชิล ช้อป ชิม มูฯ





ad1

“สำพะเนียง” ชื่อนี้อาจยังไม่แมส ยังไม่เป็นที่ไม่รู้จักของนักท่องเที่ยว แต่ถ้าใครได้รู้จักรับรองว่า จะหลงรักสำพะเนียงแน่นอน

วัดหลวงพ่อเขียว

ก็เพราะว่า ณ สถานที่แห่งนี้ที่เต็มไปด้วยสีสันในเรื่องความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายมูต้องมา เพราะที่นี่คือถิ่นกำเนิดเกจิชื่อดังอาทิ หลวงปูแร่

 นอกจากนี้ยังมีอาหารคาวหวานที่ขึ้นชื่อมากมายไม่ว่าจะเป็นขนมไทย ส่วนของคาวเขาจะขึ้นชื่อคือปลาย่าง  ในเรื่องของฝากของที่ระลึกก็จะเด่นในเรื่องหัตถกรรมอย่างเช่นพัดจักสานจากไม้ไผ่ ที่มีสารพัดรูปแบบให้เลือกสรร

และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่นี่จะมีกิจกรรมท่องเที่ยวเส้นทางใหม่“โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวทางน้ำ”  นั่นก็คือการล่องแพไม้ไผ่ไปชม ช้อป ชิม ชิล ดื่มด่ำธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำลพบุรี

ส่วนขาช้อปก็ไม่ต้องกังวลใจเพราะที่นี่มีตลาดนัด ที่พิเศษกว่าตลาดนัดทั่วไป นั้นก็คือตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ ถ้าอยากจะรู้ว่าตลาดแห่งนี้มีดีอย่างไรต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง

นี่แค่น้ำจิ้มเพราะสำพะเนียงยัง”มีของ” ต้องลองมาสัมผัส แล้วจะหลงรักแน่นอน

Close up ..Sam Phaniang :  ตีซี้สำพะเนียง

 วัดพะเนียง

สำพะเนียง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อก่อนนั้น

สำพะเนียงขึ้นอยู่กับตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช

ต่อมาได้มีการแต่งตั้งกิ่งอำเภอบ้านแพรกขึ้น  ซึ่งประกอบด้วยตำบลบ้านแพรก ตำบลบ้านใหม่ ตำบลคลองน้อย ตำบลสองห้อง และตำบลสำพะเนียง

ส่วนที่มาของคำว่า “สำพะเนียง”  สันนิษฐานกันว่าเรียกตามชื่อคลอง ที่มีชื่อว่า “คลองลำพะเนียง” ซึ่งชาวบ้านเรียกเพี้ยนออกเสียงกลายมาเป็น “สำพะเนียง”

ในปัจจุบันคลองลำพะเนียงตื้นเขินจนไม่เหลือสภาพความเป็นคลองให้ได้เห็นแล้ว

 นายสมพจน์ เพ็ญสุวรรณ นายก อบต.สำพะเนียง  ได้บอกเล่าถึงเสน่ห์ของสำพะเนียงว่า สำพะเนียงเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่เน้นเกษตรกรรมปลอดสารพิษ มีการทำนาทั้งนาปี และนาปรัง มีข้าวที่เป็นเอลักษณ์ของที่นี่ก็คือข้าวพวง

ในเรื่องมูเตลูที่กำลังเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในตอนนี้ ที่สำพะเนียงก็มีจุดเด่นไม่แพ้ที่ไหน ๆ เพราะสำพะเนียงมีจุดเด่นในเรื่องพระเกจิ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปุ่แร่ วัดสำพะเนียง หลวงพ่อเขียว วัดหลวงพ่อเขียว เจ้าแม่มะขามเฒ่าที่มีประวัติศาสตร์เป็นร้อยปี

เรื่องอาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ที่ขึ้นชื่อชูหน้าชูตาก็จะเป็นขนมไทยของกลุ่มแม่บ้าน ทีมีจุดเด่นในเรื่องการใช้วัตถุดิบที่เป็นของพื้นบ้านทั้งหมด นอกจากจะมีความอร่อยมีรสชาติเฉพาะถิ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ต้องสั่งจองล่วงหน้า กับทางกลุ่มโดยตรงหรือจะติดต่อมาทาง อบต.สำพะเนียงก็ได้

และอีกหนึ่งเมนูที่ขึ้นชื่อก็คือผลิตภัณฑ์ปลาย่าง ที่อร่อย ได้มาตรฐาน จนกลายเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัด

นอกจากนี้สำพะเนียงยังมีชื่อเสียงในเรื่องการทำพัดสาน เป็นพัดสำหรับพัดโบกเตาไฟของคนไทยสมัยก่อน หรือใช้พัดโบกร่างกายให้คลายร้อนได้ สามารถที่จะนำติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก วัสดุที่ใช้สานพัดก็คือไม้ไผ่
 

การสานพัด ผู้สานนิยมสานเป็น รูปร่างต่าง ๆ มุ่งเน้นประโยชน์การใช้งานมีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่นพัดสานห้าเหลี่ยมเหมาะสำหรับพัดโบกเตาไฟ พัดยกลายดอกสานเป็นลวดลายต่าง ๆ พัดละเอียดรูปใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ รูปตาลปัตร และนำมาจัดเป็นพวงหรีดก็สุดครีเอท

ในเรื่องท่องเที่ยว และงานรื่นเริงประจำปีนั้น ทาง อบต.สำพะเนียงได้ให้การสนับสนุนงานรื่นเริงประจำปี 2 งานด้วยกันคือ

งานสงกรานต์ จัดที่วัดสำพะเนียง และงานลอยกระทง จัดที่หนองอ้อ  ซึ่งตอนกลางวันจะมีการแข่งเรือสร้างสีสัน

ส่วนเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ของสำพะเนียงนั้น นายก อบต.สำพะเนียงบอกว่าปลายปีนี้มีเซอร์ไพรส์

“คือเรามีโครงการซึ่งได้ร่วมกับทาง อำเภอบ้านแพรก และทางจังหวัด ได้นำเสนอและของบประมาณไปแล้ว นั้นก็คือ “โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวทางน้ำ” ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการล่องแม่น้ำลพบุรีโดยใช้แพไม้ไผ่ เพราะเรามีไผ่สีสุกเยอะ  โดยเริ่มต้นที่ท่าวัดท้าวอู่ทอง ล่องผ่านวัดโบสถ์ วัดเขียนลาย วัดพระเขียว สิ้นสุดที่วัดสำพะเนียง ระยะทาง 4 กม. ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ  ซึ่งแต่ละท่าที่แวะพัก ก็จะเป็นวัด ซึ่งในแต่ละวัดก็จะมีกิจกรรม และสินค้าชุมชน ให้นักท่องเที่ยวแวะช้อป ชม ชิล ชิมด้วย ซึ่งเราวางแผนไว้หมดแล้ว รอแค่งบประมาณเท่านั้น”

นายก อบต. สำพะเนียง กระซิบบอกว่า ถ้าโครงการนี้ได้รับการอนุมัติ ลอยกระทงปลายนี้พร้อมตัดริบบิ้น ปล่อยแพแน่นนอน

 เทียวสำพะเนียงสไตล์สายมู

เทรนด์ท่องเที่ยวสไตล์สายมูกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง ที่สำพะเนียงแห่งนี้ก็มีสถานที่เหมาะแก่สายมูให้มามูเตลูไม่แพ้ที่ไหน ๆ งั้นมาเริ่มมูเตลูกันเลยที่…

วัดหลวงพ่อเขียว

เดิมชื่อ วัดข้าวเขียวหรือวัดพุ่มข้าวเขียว ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดพระเขียว ตามลักษณะพระพุทธรูปหินทรายสีเขียวแกมเทา ที่ขุดพบประดิษฐานอยู่ในพระวิหารปัจจุบัน

 ภายในวิหารที่หลวงปู่เขียวประดิษฐานกำลังอยู่ในการซ่อมแซมและกำลังจะสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนัง ถ้าปฎิสังขรณ์เสร็จ วิหารหลวงพ่อเขียวแห่งนี้ต้องงดงามกลายเป็นสถานเช็คอินแห่งใหม่

ในเรื่องมูเตลูของหลวงพ่อเขียวนั้น มีความเชื่อกันว่าคนมักจะมาขอในเรื่องสอบเข้าเป็นราชการโดยเฉพาะการสอบเข้าตำรวจ ทหาร ว่ากันว่าที่นี่ศักดิ์นักแล ซึ่งคนที่มาขอและประสบความสำเร็จสมปรารถนาก็จะมาแก้บนด้วยการถวายกลองยาว

วัดสำพะเนียง

 วัดสําพะเนียง ตั้งอยูที่ หมู 6 ตําบลสําพะเนียง อําเภอบ้านแพรก เดิมชื่อ “วัดสนามควาย” เพราะ เป็นสถานที่ใช้แข่งควายในสมัยโบราณ วัดสนามควายสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2330 หรือประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว

ก่อนที่จะไปมูเตลูหลวงปู่แร่ปิดตา จะพาไปชมความงามขอตึกเก่าเหลืองอร่ามสไตล์โคโรเนียล สมัยก่อนใช้เป็นกุฎิพระ เป็นตึกที่สวยงามแปลกตาในละแวกนี้ คงจะงามกว่านี้ไม่น้อยถ้าได้รับการปฎิสังขรณ์

อีกหนึ่งไฮไลท์ของวัดสำพะเนียงที่ต้องห้ามพลาดนั่นก็คือ การไปชมความอลังการของเสาไม้ยักษ์ ว่ากันว่าเป็นเสาไม้ที่มีขนาดใหญ่สุดในเขตนี้ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง มีประมาณ 30 ต้น ซึ่งเสาทั้งหมดถากด้วยมือ วิธีประกอบเป็นศาลาการเปรียญใช้วิธีแบบช่างโบราณคือไม่ใช้น๊อต และตะปูแม้แต่ตัวเดียว เป็นภูมิปัญญาช่างแบบโบราณด้วยการใช้เดือย น่าทึ่งมาก

 ในเรื่องของมูเตลูก็คือหลวปู่แร่ ซึ่งจะศักดิ์สิทธ์ในเรื่องมหาอุด ตามตำนานเล่าว่า

หลวงพ่อแร่ ‘พระครูอุดมสิทธิการ’ เดิมชื่อแร่ เสมอใจ เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 ที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของนายเพชร เสมอใจ และนางปุย เสมอใจ ครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่บ้านสำพะเนียง ตัั้งแต่เมื่อครั้งหลวงพ่อแร่ยังเยาว์วัย ได้ร่ำเรียนหนังสือที่วัดสำพะเนียง

 ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2480 ได้ออกธุดงค์ไปกับพระเขมร ไปร่ำเรียนวิชาเพิ่มเติมถึงเมืองพระตะบอง ก่อนกลับมาวัดสำพะเนียงในเวลาต่อมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2487 ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสำพะเนียง มรณภาพเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2538

ในปี พ.ศ. 2522 หลวงพ่อแร่ได้ดำเนินการจัดสร้าง ‘พระปิดตา’ ซึ่งเป็นวัตถุมงคลรุ่นแรกของหลวงพ่อแร่ ตามคำขอของลูกศิษย์ คือ อาจารย์ทวี ผสมทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ ทั้งยังเป็นผู้จัดหาแม่พิมพ์ตลอดจนมวลสารพวกกล้วย ปูน มาช่วยโขลกผสมกับ ‘ผงวิเศษ’ และมวลสารอื่นที่หลวงพ่อแร่มอบให้ มีผู้ใหญ่เยี่ยม เรืองขจร ผู้ใหญ่สำราญ อรชร และลูกศิษย์ท่านอื่นมาช่วยสร้างพระปิดตาได้ประมาณ 5,000 องค์

จากนั้นหลวงพ่อแร่จึงได้ทำการปลุกเสกตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาจนออกพรรษา จึงนำพระปิดตาทั้งหมดแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์และญาติโยมทั้งหลาย

 ว่ากันว่า หลวงปู่แร่รุ่นพระปิดตา คือ ‘สุดยอดแห่งมหาอุด’ ที่เหล่าเซียนพระปรารถนา

 ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง

 ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่หน้าวัดสำพะเนียง เป็นศาลเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใต้ต้นตะเคียนโบราณที่มีขนาดใหญ่ ร่มรื่นที่มีความขลัง ว่ากันว่า ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองแห่งนี้เหมาะแก่การมาหาตัวเลขนักแล

 ช้อปปิ้งสินค้าชุมชนที่ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ

 ภาระกิจการไปเที่ยวจะคอมพลีทก็ต้องไปช้อปปิ้ง การมาเที่ยวที่สำพะเนียงให้สมบูรณ์แบบก็ต้องแวะมาช้อปปิ้งที่ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ

 ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ เป็นตลาดคู่บ้านคู่เมืองสำพะเนียงมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2545  ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ค่าแผงถูก ไม่หวังกำไร ให้ชาวบ้านมีที่ทำมาหากิน” กว่า 20 ปีที่ตลาดแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ขาย สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอย

 เป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชน นำสินค้าที่เป็นของชาวบ้าน อย่างพวกพืชผักผลไม้ พื้นบ้านต่าง ๆ นำมาขาย ในราคาที่ฮีลใจคนซื้อสุด ๆ  เพราะที่ตลาดแห่งนี้มีเงินแค่ 10 บาท ก็สามารถมาช้อปปิ้งได้แล้ว นี่คืออีกหนึ่งสเน่ห์ของสำพะเนียง เพราะที่นี่ได้สร้างความประทับใจแก่อาคันตุกะที่มาเยือนมายาวนาน ซึ่งเป็นการปิดท้ายการมาเที่ยวสำพะเนียงให้คอมพลีทอย่างมีความสุข

 ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ เปิดวันจันทร์ และวันศุกร์ตั้งแต่บ่ายสามถึงหนึ่งทุ่ม

ตั้งอยู่บริเวณข้างวัดเขียนลาย หมู่ 4 ต. บ้านแพรก อ. บ้านแพรก จ. พระนครศรีอยุธยา โทร. 08 1807 0801

 ขอบคุณนายสมพจน์ เพ็ญสุวรรณ นายก อบต.สำพะเนียง  ติดต่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่

โทร.  08 1780 3506