เรื่องเล่าหน้ากากผีตาโขน “คุณลุงอภิชาต” ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556

เรื่องเล่าหน้ากากผีตาโขน “คุณลุงอภิชาต” ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556





Image
ad1

นึกถึงหน้ากากผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย วันนี้กลายเป็น "เอกลักษณ์" ให้นักท่องเที่ยวไทยและเทศมาเยือนเมืองเลยได้จดจำได้ง่าย จนกลายเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีคุณค่าความงดงาม ซึ่งผีตาโขน เป็นหน้ากากที่ชาวบ้านทำด้วยมือกันมาตั้งแต่โบราณ เพื่อร่วมงานพิธีและร่วมใช้ในการแสดงในท้องถิ่น

โดยการทำการทำหน้ากาก ประกอบขึ้นมาจากวัสดุธรรมชาติที่เลือกหากันในท้องถิ่น  อย่างกาบมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว ที่ชาวบ้านทำการจักรสานจากไม้ไผ่ ซึ่งในอดีตมีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาอย่างน่าศึกษา เกี่ยวโยงถึงเรื่องความเชื่อและวิถีพื้นบ้านของชาวอ.ด่านซ้าย

คุณลุงอภิชาต คำเกษม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 เล่าว่า อดีตตนเคยเป็นครูสอนศิลปะ ที่โรงเรียนแถวอ.ด่านซ้ายมานาน จนเกษียณอายุ  จึงได้คลุกคลีวิถีพื้นบ้าน งานศิลปะทำหน้ากากผีตาโขนมาทั้งชีวิต ซึ่งได้สืบทอดกันมาจากญาติผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านจนกลายเป็นมรดกงานศิลป์ทรงคุณค่า

 “สมัยยุคแรกๆเมื่อหลายปีก่อน ไม่มีการใช้สีเคมีที่ทันสมัย ต้องเลือกใช้วัสดุธรรมชาติมาทำสี เพื่อทาตกแต่งหน้ากาก วาดลวดลายให้มีสีสัน สวยงาม อย่างสีแดง ทำมาจากเปลือกมังคุด, สีดำ ทำมาจากเขม่าควัน ถ่านไฟ และ สีขาว นำมาจากปูนขาว เป็นต้น จากนั้นมาออกแบบเขียนลวดลายต่างๆ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน” คุณลุงอภิชาต กล่าว

ส่วนความเป็นมาการละเล่นผีตาโขนนั้น ตามประวัติมาจาการแสดงโขน จากการเทศน์มหาชาติ หรือที่รู้จักกันงาน “บุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ตรงกับเดือน7จัดขึ้นที่อ.ด่านซ้าย โดยมีการจัดการละเล่นแบบพื้นบ้านทุกๆปี ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือ เทศมหาชาติ ประจำปีกับพระศรีสองรัก ปูชนียสถานของชาวด่านซ้าย

งานนี้เป็นรู้จักกันของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีชื่อเสียงโด่งดัง ทางภาครัฐมีการโปรโมทอย่างเต็มที่ เพื่อชวนนักท่องเที่ยวมางาน จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวด่านซ้าย และที่สำคัญ มีการแห่ผีตาโขน มีการแต่งกายคล้ายผี สวมหน้ากาก ที่มีความแปลกกว่าผีจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากหน้ากากผี มีลวดลายที่งดงาม ตามศิลปะลวดลายแบบไทยๆ

 ส่วนที่มาผีตาโขน คำว่าผี มาจากความเชื่อ ส่วนตา มาจากบรรพบุรุษ และโขนมาจากการเทศน์มหาชาติ จึงถูกนำมาเชื่อมโยงกลายเป็น “ผีตาโขน” ที่เรียกกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่วนชนิดผีตาโขนแบ่งเป็น ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก ซึ่งย้อนกลับไปจ.เลย  ในอดีตแค่เมืองเล็กๆ ลักษณะเป็นเมืองปิด ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

ดังนั้น เมื่อมีการจัดงานขึ้นมาแต่ละครั้ง ประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงจะมาร่วมงานกันมากมาย มีการละเล่นตามประเพณีของท้องถิ่น ทางวัดเองได้มีการจัดงานเทศน์มหาชาติ เพื่อให้ชาวบ้านมาร่วมทำบุญตามประเพณีแบบไทยโบราณ  อย่างภาคอีสานมีงานบุญผะเหวด เพราะฉะนั้น วัดสมัยก่อนจึงเป็นสถานที่ทางศาสนา และศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน จนถึงปัจจุบันยังมีงานสืบสานประเพณี แห่ผีตาโขนอยู่ทุกๆปี

 ยิ่งยุคสมัยนี้สังคมและวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่ยังนิยมทำหน้ากากผีตาโขนอยู่ แต่ได้วิวัฒนาการไปอีกแบบ จะเน้นสีสัน ส่วนลวดลายจะคล้ายคลึงหน้ากากแบบโบราณบ้าง เรื่องความละเอียดงานศิลปะอาจแตกต่างกันไป เพราะคนยุคเก่า เริ่มห่างหายไป มีชาวบ้านจำนวนน้อยที่ยังคงอนุรักษ์ทำหน้ากากผีตาโขนอยู่

คุณลุงอภิชาต กล่าวตอนท้ายว่า เพื่อเป็นการรักษาศิลปะที่งดงามของผีตาโขน จึงได้มีการพัฒนาต่อยอดจากลวดลายหน้ากากผีแบบโบราณ หันมาทำแก้วกาแฟ รูปทรงหน้ากาก ผลิตจากเครื่องปั้นดินเผา, ทำเสื้อยืดที่ระลึก สกรีนรูปหน้ากาก เพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก สำหรับคนชอบผีตาโขน

จึงอยากชวนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันอนุรักษ์ของดีเมืองเลย  “หน้ากากผีตาโขน” ให้อยู่คู่สังคมไปยาวนาน เพราะนี่คือ อัตลักษณ์ท้องถิ่นอ.ด่านซ้าย ที่ทรงคุณค่าให้กับศิลปะและรักษาวัฒนธรรมไทยที่งดงาม