“ไวโรจน์” ทายาทผู้สืบทอด “ว่าวเบอร์อามัส” งานศิลป์กลางท้องฟ้าของคนเมืองสาย

“ไวโรจน์” ทายาทผู้สืบทอด “ว่าวเบอร์อามัส” งานศิลป์กลางท้องฟ้าของคนเมืองสาย





Image
ad1

“ไวโรจน์ วานิ” ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี  60  หนึ่งผู้สืบทอดการทำ “ว่าวเบอร์อามัส” หรือ “ว่าวทองมลายู” นิยมทำกันมากแถวด้ามขวานทอง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่มีลวดลายศิลปะผสมผสาน สื่อถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของปัตตานีและชาวมลายู

เรื่องเล่าในอดีต ว่ากันว่าว่าวเบอร์อามัสนิยมใช้เป็นเครื่องมือพยากรณ์ลม ฟ้า อากาศสมัยโบราณ  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ปัจจุบันบันกลายเป็นว่าวเพื่อใช้เล่นในท้องถิ่นริมทะเลของคนเมืองสาย จนกลายเป็นศิลปะบนฟ้าที่มีความงดงาม ในยามที่ฟ้าสงบ นักเล่นว่าวจะออกจากบ้านมาสัมผัสกับสายลมและแสงแดด  ชักชวนเพื่อนๆในหมู่บ้านมาเล่นว่าวกัน เหล่าบรรดาเด็กๆในท้องถิ่นวิ่งตามกันอย่างสนุกสนานในยามเย็น จนกลายเป็นสีสันหนึ่งในของชุมชนมุสลิมชาวใต้

แต่ลูกชาย “แวฮานิ วานิ” ครูศิลป์แผ่นดินปี 60  ผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำว่าว “เบอร์อามัส” ไม่ปล่อยให้มรดกทางวัฒนธรรมบ้านเกิดต้องสูญหายไปตามยุคสมัย ร่วมกันสืบสานการเล่นว่าวและการทำว่าว “ทองมลายู” ซึ่งเป็นการเล่นว่าวของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้นิยมกันช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ไวโรจน์ ทายาทคนเก่งเล่าว่า “ตนเริ่มทำว่าวเบอร์อามัสมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ได้เรียนรู้ศิลปะชิ้นนี้มาจากคุณพ่อ ซึ่งวิธีการทำว่าวหาคนเก่งๆในท้องถิ่นนั้น มีไม่เยอะมากมายยุคนี้ แต่ละคนทำว่าวได้ ทำว่าวเป็น แต่จะทำให้ว่าวขึ้นบนท้องฟ้าได้งดงาม ตามแบบฉบับงานฝีมือนั้นหายาก ทั้งเรื่องงานออกแบบ ลวดลาย การแเปะกระดาษ การวาดลวดลาย จะต้องมีทักษะความชำนาญและมีประสบการณ์พอควร”

ซึ่งจะต้องศึกษาตั้งแต่การขึ้นโครงว่าวตามแบบฉบับดั้งเดิม ยิ่งยุคนี้คนทำว่าวที่ฝีมือดีๆนับวันหายาก เหลือเพียงครอบครัวของตน ที่มีการอนุรักษ์การทำว่าวทองมลายูกันต่อไปอีกยาวนาน แต่ยังมีคนสนใจอยากทำว่าวเบอร์อามัสกัน ตนพร้อมให้ข้อมูลและสอนให้ เพื่อร่วมกันนำของดีในท้องถิ่นไปเผยแพร่

ทุกวันนี้ๆในท้องที่อำเภอสายบุรี ยังมีการจัดประกวดแข่งขันว่าวกันอยู่บ้าง ในช่วงเดือนพฤษภาคม มีนาคมและเมษายนของทุกปี เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไม่ให้สูญหายไป เนื่องจากว่าในพื้นที่ภาคใต้ที่สนใจทำว่าวเบอร์อามัสมีแค่แห่งเดียวเท่านั้น แต่ว่าวแบบโบราณ อย่างว่าววงเดือน ว่าวนก ว่าวกูจิง (ว่าวแมว) ยังพอให้เห็นอยู่บ้างในบางอำเภอ แต่โดยรวมเด็กยุคใหม่ นิยมเล่นว่าวเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากมีของเล่นสมัยใหม่มาทดแทนตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

เสน่ห์ของว่าวเบอร์อามัส นอกจากมีความสวยงามเรื่องลวดลายชวา ที่ปรากฏอยู่บนข้างเรือกอและแล้ว ยังเป็นงานศิลป์อีกอย่างหนึ่ง ที่ใครเห็นแล้วจะหลงไหลในเสน่ห์ บางคนซื้อว่าวไปใช้ตกแต่งบ้าน ตกแต่งร้านค้า ซึ่งสื่อให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้ ตอนนี้มีชาวต่างชาติ อย่างฝรั่งเศส อังกฤษและอิตาลีสั่งออเดอร์ อยากได้นำไปใช้ตกแต่งบ้าน สามารถสร้างมูลค่าขึ้นมาขายกันตัวละ 1,000-1,300 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลวดลายความยากง่ายในการทำว่าวแต่ละตัว

เชื่อว่ามนต์เสน่ห์ว่าวเบอร์อามัส วันนี้ไม่เพียงแค่เล่นกันทุ่งนาเมืองสายบุรีเท่านั้น ในอนาคตจะแพร่หลายไปในท้องถิ่นต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ถ้ามองให้ลึกว่าวประเภทนี้ จะแผงด้วยปรัชญาและข้อคิด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าศึกษา