นักวิจัยโคราชค้นพบเคล็ดลับใช้ลูก “มะพูด”ย้อมเส้นไหมสีเหลืองทองอร่ามเพิ่มมูลค่า
นครราชสีมา - นักวิจัยโคราชลดการตัดต้น “มะพูด”ด้วยการใช้ลูก “มะพูด” มาใช้แทนเปลือกในการย้อมเส้นไหม ให้สีเหลืองทองสวยงาม เตรียมยื่นรับรองผลการวิจัย
ที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นายพินัย ห้องทองแดง ที่ปรึกษาศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้พาชมสวนต้นมะพูดที่ได้นำเมล็ดจากจังหวัดสุรินทร์มาปลูกเอาไว้ที่ศูนย์ฯเพื่อใช้ทำการวิจัยโดยการนำผลมะพูดมาใช้ย้อมเส้นไหมแทนการใช้เปลือกต้นมะพูดซึ่งปัจจุบันนั้นเปลือกของต้นมะพูดนั้นเริ่มหายากและมีราคาค่อนข้างสูง
สำหรับซึ่งต้นมะพูดนั้นเป็นเป็นไม้ยืนต้นตระกูลเดียวกับมังคุดโดยชาวบ้านนั้นนิยมนำเปลือกของต้นมะพูดนั้นมาย้อมผ้าโดยเฉพาะเส้นไหมเพื่อให้เส้นไหมมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองดอกบวบและมีการใช้ย้อมเส้นไหมมาตั้งแต่โบราณ แต่การได้มาของเปลือกต้นมะพูดนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้กันก็คือการโค่นต้นมะพูดที่มีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปรวมไปถึงการตัดกิ่งขนาดใหญ่เพื่อนำเปลือกมาใช้
ทำให้ในปัจจุบันนั้นต้นมะพูดตามธรรมชาตินั้นมีจำนวนลดลงเนื่องจากโดนตัดเพื่อนำเปลือกมาขาย ทำให้ทางศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นจึงได้มีการวิจัยนำลูกของต้นมะพูดนั้นมาใช้ย้อมเส้นไหมแทนการใช้เปลือก
นายพินัย ห้องทองแดง ที่ปรึกษาศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เปิดเผยว่า ตนนั้นได้มีการนำเมล็ดของต้นมาพูดจากจังหวัดสุรินทร์มาปลูกไว้ที่ศูนย์ฯ เพื่อที่จะนำมาวิจัย ซึ่งจากการวิจัยพบว่าผลมะพูดนั้นสามารถนำมาย้อมเส้นไหมได้ซึ่งให้สีสันและคุณภาพใกล้เคียงกับการใช้เปลือกต้นมะพูด โดยส่วนที่สำคัญของผลมะพูดที่สามารถนำมาย้อมเส้นไหมได้นั้นก็คือในส่วนของยางจากผลมะพูด
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “รง” ซึ่งใช้ได้ตั้งแต่ผลดิบที่โตเต็มที่รวมไปถึงผลที่สุกแล้ว ซึ่งจากการวิจัยโดยการลองนำมาย้อมเส้นไหมพบว่าหลังจากการย้อมด้วยผลมะพูดแล้วนั้นเน้นไหมให้สีเหลืองทองหรือสีเหลืองดอกบวบซึ่งมีสีที่ใกล้เคียงกับการย้อมด้วยเปลือกต้นมะพูด
นอกจากนี้ยังได้มีการทดลองนำไปซักและตากหลายรอบผลปรากฎว่าสีที่ย้อมนั้นมีความคงทนถาวรคุณภาพใกล้เคียงจากการย้อมด้วยเปลือก ทำให้ทางศูนย์นั้นเตรียมยื่นขอใบรับรองจากสถาบันพัฒนาสิ่งทอและเตรียมนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนั้นไปบอกต่อกับชาวบ้านหรือกลุ่มผู้ทอผ้าตามจังหวัดต่างๆ และยังเป็นการอนุรักษ์ต้นมะพูดต้นที่เป็นต้นไม้พื้นถิ่นอีกด้วย.
โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา