โคเนื้อพัทลุงราคาวูบเกษตรกรขาดทุนยับวอนรัฐเจรจาส่งออกจีน

โคเนื้อพัทลุงราคาวูบเกษตรกรขาดทุนยับวอนรัฐเจรจาส่งออกจีน





Image
ad1

“โค” พัทลุง อ่วมปีที่ 4  ราคาลดวูบจาก 110 บาท เหลือ 70-75 บาท / กก. เกษตรกรพบผู้ว่าฯพัทลุง หารือ 3 ประเด็น 1.เสริมสภาพคล่อง 2. เข้มนำเข้า 3. จัดโรงเชือดประจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง

ดต.เสวียง แสงขาว เจ้าของโคเนื้อฟาร์มมิสเตอร์โจ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ขนาด 200 ตัว เปิดเผยว่า ภาวะโคเนื้อ จ.พัทลุง พื้นที่เลี้ยงรายใหญ่ของภาคใต้ ได้ประสบกับการเลี้ยงการค้ามาเป็นปีที่ 4 และย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ในปี 2568  การเลี้ยงการค้าอืดมาตลอด ปัจจัยหลักจากถูกโคเนื้อนอกพื้นที่เข้ามาทำตลาด ประกอบกับการส่งออกที่ไม่คล่องตัว

จากราคาดีที่เคยปรับตัวสูงขึ้น 100 บาท 105 บาท และ 110 บาท / กก. แต่มาในปี 2567-2568 ได้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 75 บาท / กก. และสำหรับบางฟาร์ม 85 บาท / กก. ขณะที่ต้นทุนที่จะคุ้มทุนอยู่ได้ 100 บาท / กก.

“เมื่อราคา 75 บาท / กก. ขาดหายไป 25 บาท / กก. โคเนื้อตัวละขนาด 800 กก. และถึง 900 กก. ต้องหดหายไปประมาณ 20,000 – 25,000 บาท / ตัว  จนกระทบต่อฟาร์มเลี้ยงต้องลดอาหารให้โค ขณะที่ฟาร์มเลี้ยง 200 ตัว ให้อาหารโคเพียงประมาณ 12,000 บาท / วัน จากเดิมที่เคยให้อาหารโคตามศักยภาพ 35,000 บาท และถึง 40,000 บาท / วัน”

ดต.เสวียง กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อพัทลุงจึงเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่ได้ก่อนที่จะล้มลงจะเดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพื่อนำเสนอประเด็นในการแก้ไข คือ 1. ให้ทางจังหวัดพัทลุงสนับสนุนงบประมาณของจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่องกลุ่มผู้เลี้ยงโคตามศักยภาพของฟาร์มให้สามารถเดินต่อไปได้ โดยประมาณ 1 ปี ก็ไปได้

2. ให้มีการห้ามการนำโคเข้ามาในจังหวัดพัทลุง จากต่างประเทศ และกลุ่มเลี้ยงโคปล่อยทุ่ง เพราะทั้งโคจากต่างประเทศ และโคลุยทุ่ง ต่างมีต้นทุนต่ำกว่ามาก ก็จะเข้ามาดั้มราคาเพื่อการแข่งขัน ก็จะส่งผลกระทบต่อโคที่เลี้ยงในพื้นที่ และ  3. ให้จังหวัดมีการจัดตั้งสร้างโรงเชือดของแต่ละจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเชือดโคในจังหวัด

ดต.เสวียง กล่าวอีกว่า กรณีที่ประเทศจีนได้มีนโยบายนำเข้าโคจากไทยปีละ 1.5 ล้านจากการดำเนินการของรัฐบาล ถือว่าจะเป็นการดีมากที่เป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค จะสามารถระบายโคออกต่างประเทศได้ จะส่งผลให้ตลาดเปิดกว้างขึ้นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคก็จะมีทิศทางที่ดี

“โค จ.พัทลุง และทางภาคใต้ ขณะนี้จะไปหาเงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่องก็ไม่ได้แล้วจากสถาบันเงินการเงิน โดยหลายรายได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว บางราย 20 ล้านบาท และหลายรายในระดับ 10 ล้านบาท ภาพรวมแล้วมีสินเชื่อกับสถาบันไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท” ดต.เสวียง กล่าว

นายวิรัตน์ รอดนวล ประธานกรรมการ วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง และประธานกรรมการ บริษัท ลังกาสุกะฟาร์ม จำกัด ตลาดกลางประมูลซื้อขายโค กระบือ แพะ รายใหญ่ อ.กงหรา จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ปัจจุบันโค จ.พัทลุง ส่งออกได้ไม่มากที่ประเทศจีน แต่หากเมื่อรัฐบาลมีการเจรจาการส่งออกได้ก็จะส่งให้โคจะฟื้นตัวมา เพราะปัจจุบันที่ส่งออกได้มีตลาดเดียวคือประเทศมาเลเซีย แต่หากมีการเปิดตลาดประเทศจีน จึงสามารถส่งออกได้ทั้ง 2 ตลาด การตลาดก็จะมีการรุกเกิดขึ้น ราคาก็จะกระเตื้องขึ้นกว่าที่มีตลาดเดียว

“โคเนื้อราคาที่เคยปรับตัวถึง 100- 105 - และ 110 บาท / กก. แต่มาในพื้นที่ขณะนี้ราคาปรับตัวเคลื่อนไหวที่ 65 บาท และ 70 บาท / กก. โดยเฉพาะในพื้นที่ประมาณ 2 ปีมาแล้ว”

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า  จากโคเนื้อที่ราคาตกลงมาปรากฏว่า ส่งผลให้เนื้อวัวไทย สามารถที่จะแข่งขันกับเนื้อแท่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยราคาจะต่างกันประมาณ 5 บาท และ 10 บาท / กก. ก็จะหันมาบริโภคเนื้อวัวไทยกันเพิ่มขึ้น.