หนุนชาวนาเหนือปลูกข้าว‘สาลี-บาร์เลย์-โอ๊ต’ใช้น้ำน้อย โตเร็ว ตลาดต้องการสูง


องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งในภูมิภาค ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและวิกฤตห่วงโซ่อุปทานในตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มธัญพืชเมืองหนาวจากประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งออกข้าวสาลี ป้อนตลาดโลกมากกว่า 50 ประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกจากทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว
จากปัญหาดังกล่าวกรมการข้าวมีแผนระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) มุ่งสนับสนุนและมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร พร้อมกำหนดนโยบายส่งเสริมการผลิตข้าวสาลี 2,000 ไร่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ล่าสุด นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลีล้านนา ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พร้อมระบุว่า เพื่อประชาสัมพันธ์การผลิตข้าวสาลีในประเทศไทย และเปิดตัวข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ดีเด่น FNBL#140 เพื่อการทำมอลต์ ที่จะเตรียมรับรองพันธุ์ในปีงบประมาณ 2569 เนื่องจากไทยไม่มีพันธุ์รับรองข้าวบาร์เลย์ ตั้งแต่ปี 2528
โดยสายพันธุ์นี้สามารถต้านทานโรคใบจุด รวมทั้งมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุดถึง 339 ก.ก./ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์เดิม 20% ที่รับรองพันธุ์ไว้ เมื่อปี 2528 และที่สำคัญมีคุณภาพเพื่อการทำมอลต์ตามมาตรฐานสากล โดยพื้นที่ภาคเหนือเหมาะสมที่เกษตรกรจะปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และน่าน ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการปลูกในช่วงฤดูหนาวได้ สำหรับพืชเมืองหนาวที่กรมการข้าวได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย โตเร็ว ได้ผลผลิตต่อไร่สูง และยังมีความต้องการของตลาด
กรมการข้าวจึงจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรที่สนใจ พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยหาก พ.ร.บ.สุราชุมชนผ่านแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวจะส่งเสริมให้มีการแปรรูปผ่านศูนย์ข้าวชุมชนต่อไป
“ข้าวบาร์เลย์ เป็นพืชเมืองหนาว ทำให้ไม่ต้านทานต่อโรคและมีผลผลิตต่อไร่น้อย กรมการข้าวจึงพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงและมีความต้านทานต่อโรค”
นายอัครา กล่าวว่า ไทยนำเข้าวัตถุดิบกลุ่มธัญพืชเมืองหนาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 มีการนำเข้าข้าวสาลี 13 ล้านตัน มูลค่า 122 ล้านบาท ข้าวบาร์เลย์ 6.5 แสนตัน มูลค่า 10 ล้านบาท และข้าวโอ๊ต 0.9 แสนตัน มูลค่า 2.9 ล้านบาท
ปัจจุบันตลาดภายในประเทศของกลุ่มธัญพืชเมืองหนาวมีกลุ่มตลาดเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ต้องการเน้นเพื่อการแปรรูป ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเบเกอรี่ อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง และการท่องเที่ยวทำให้เป็นโอกาสของการผลิตข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต ที่ใช้ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลผลิตข้าวสาลีเฉลี่ยของกลุ่มผู้ปลูกข้าวสาลี บ้านศรีดอนชัย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ผลผลิต 378 ก.ก./ไร่ และกลุ่มเกษตรกรบ้านทุ่งหลวง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ได้ 333 ก.ก./ไร่ และต้นทุนการผลิตของกลุ่มเกษตรกรทั้งสองกลุ่มประมาณ 3,514 บาท/ไร่
แป้งสำหรับทำขนมโดยทั่วไปราคาประมาณ 16 บาท/ก.ก. แต่หากเป็นแป้งพิเศษที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะแป้งที่ทำจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ตเพาะงอกหรือมอลต์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้แป้งพิเศษชนิดนี้มีราคาสูงมากกว่า 200 บาท/ก.ก.
ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตภายในประเทศค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้า เนื่องจากผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ รวมทั้งมีพื้นที่การผลิตน้อย การมุ่งเน้นตลาดแป้งคุณภาพสูงกลุ่มเฉพาะดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของการผลิตในประเทศไทย
ตลาดที่รองรับการผลิตในกลุ่มเครื่องดื่มจากมอลต์ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องการเมล็ดพันธุ์เพื่อการผลิตน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลี เนื่องจากข้าวสาลีที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศมีการขนส่งที่ใช้ระยะเวลานาน และมีการรมสารเคมี ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ และอาจมีสารเคมีตกค้างไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค
2.กลุ่มมอลต์สกัดเครื่องดื่มสุขภาพมีสารเบต้า-กลูแคน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานอย่างสมดุล และมอลต์สำหรับทำเบียร์จากข้าวบาร์เลย์ จากการที่ตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้การนำเข้ามอลต์ข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้นในทุกปี การประเมินอัตราการขยายตัวของตลาดมอลต์ข้าวบาร์เลย์ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 4% จาก 108 ล้านตัน/ปีทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการของผู้ผลิตเบียร์และผู้บริโภคที่ต้องการวัตถุดิบที่เพาะปลูกและผลิตภายในประเทศ ทำให้โรงกลั่นเบียร์รายใหญ่และผู้ผลิตรายย่อยมุ่งหากลุ่มผู้ผลิตมอลต์ภายในประเทศที่มีศักยภาพ
และ 3.น้ำนมข้าวโอ๊ตเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มผู้บริโภคแพ้นมสัตว์ ซึ่งภาพรวมตลาดนมจากพืชทั่วโลกมีมูลค่า 13.24 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 คาดการณ์ภาพรวมมูลค่าตลาดทั้งหมดจะเพิ่มสูงถึง 30.79 ล้านดอลลาร์ในปี 2574
นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้สารสำคัญของกลุ่มธัญพืชเมืองหนาวสำหรับเวชสำอาง โดยเฉพาะในกลุ่มของสกินแคร์มีมูลค่ามากกว่า 1.6 แสนล้านบาท
นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกตัว