ม.เกริก หารือ อว. เดินหน้าตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือไทย-ทูร์เคีย”เสริมบทบาทอุดมศึกษาไทยบนเวทีโลก


ม.เกริก หารือ อว. เดินหน้าตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือไทย-ทูร์เคีย” และ “สภาวิชาการมุสลิมศึกษาและวิทยาการอิสลามแห่งประเทศไทย” พร้อมมอบทุนการศึกษา 10 ประเทศ เสริมบทบาทอุดมศึกษาไทยบนเวทีโลก สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และคณะผู้แทนจากกระทรวง อว. ประกอบด้วย คุณจตุรนต์ เอี่ยมโสภา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.คณิต สวัสดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวเจะฮัสนะฮ หะยีเจะเตะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองการต่างประเทศ และนายปัญธวัฒน์ กอบกิจธนาโรจน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองการต่างประเทศ
ให้การต้อนรับคณะจากมหาวิทยาลัยเกริก โดย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มอบหมายให้ อ.ดร.สราวุธ และซัน ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศและรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ อ.ดร.ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ อ.ซารีฮาน ขวัญคาวิน ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม อ.กัษมารา เอี่ยมพัชรวุฒิ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและการจัดการวารสาร น.ส.นัศรียา กรีมี รองผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ นายมูฮำหมัด อัสซูรีฮี อัลฮารบี หัวหน้าฝ่ายพิธีการสำนักการต่างประเทศ และอ.พีรณัฐ บุญมาเลิศ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เข้าปรึกษาหารือ เพื่อรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนาการศึกษาที่สอดรับกับทิศทางโลก โดยมีสาระสำคัญในการหารือ ดังนี้
ขับเคลื่อนศูนย์ความร่วมมือไทย-ทูร์เคีย สะพานเชื่อมโยงการศึกษาและวัฒนธรรม
หนึ่งในประเด็นหลักของการหารือคือการจัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือไทย-ทูร์เคีย” (Thai-Türkiye Collaboration Center) ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนสาธารณรัฐทูร์เคียของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานสำคัญของทูร์เคีย อาทิ กระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรม (Diyanet) มหาวิทยาลัยพันธมิตร และองค์กรด้านภาษาและวัฒนธรรมศูนย์ฯ ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร นักศึกษา และความร่วมมือระหว่างไทยและทูร์เคีย เสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีในระดับการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ
ยกระดับนักวิชาการมุสลิมศึกษา สู่เวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
อีกหนึ่งก้าวสำคัญคือการผลักดันจัดตั้ง “สภาวิชาการมุสลิมศึกษาและวิทยาการอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกและสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อส่งเสริมงานวิชาการด้านอิสลามศึกษาให้เท่าทันยุคสมัย มีความร่วมสมัย และเชื่อมโยงกับบริบทไทยและสากล
สภานี้จะทำหน้าที่เป็นเวทีกลางสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ และขับเคลื่อนการวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ
เปิดโอกาสสู่การศึกษาโลก ม.เกริกมอบทุนต่างชาติเต็มจำนวน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกริกยังได้เปิดตัวโครงการ “Flagship ทุนการศึกษานานาชาติ” โดยในระยะแรกจะมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวน (100%) ให้แก่นักศึกษาต่างชาติจาก 10 ประเทศเป้าหมายทั่วโลก อาทิ ทูร์เคีย ซาอุฯ บังกลาเทศ ยูเครน เซอร์เบีย ฯลฯ ครอบคลุมค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยเกริก
โครงการนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายการศึกษาในระดับโลกอย่างยั่งยืน และมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา (Hub of Education) ในอาเซียนและเวทีโลก
ถือเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ยกระดับอุดมศึกษาไทยสู่สากล
การหารือครั้งนี้ตอกย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยเกริกในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการศึกษาที่เปิดกว้าง ความร่วมมือที่ลึกซึ้ง และความเข้าใจที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ พร้อมยกระดับอุดมศึกษาไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างมั่นคงและมีพลัง
โดยมหาวิทยาลัยเกริก ได้มอบกระเช้าพร้อมด้วยรูปตราสัญลักษณ์ออตโตมัน (Ottoman emblem) หรือ "ตราแผ่นดินจักรวรรดิออตโตมัน" (Ottoman coat of arms) เป็นตราประจำราชวงศ์และรัฐในช่วงปลายของจักรวรรดิออตโตมัน (โดยเฉพาะช่วงสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2) ตรานี้เป็นการแสดงถึงอำนาจแบบศาสนาธิปไตย (theocratic monarchy) ที่สุลต่านเป็นทั้งผู้นำทางโลกและศาสนา มีอำนาจในฐานะ "เคาะลีฟะฮ์" (ผู้นำมุสลิมโลก) และจักรพรรดิที่ปกครองดินแดนกว้างใหญ่ ซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศทูร์เคียและมุสลิมโลกในปัจจุบัน