ฝนถล่มปราจีนบุรีอุปสรรคผลักดันช้างป่า 50 ตัวกลับสู่ป่าอนุรักษ์

ฝนถล่มปราจีนบุรีอุปสรรคผลักดันช้างป่า 50 ตัวกลับสู่ป่าอนุรักษ์





Image
ad1

ปราจีนบุรี–อุทยานแห่งชาติทับลาน ระดมอากาศไร้คนขับ 3 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน เร่งผลักดันช้างป่า 50 ตัว กลับสู่ป่าอนุรักษ์  เน้นแนวทางงดใช้เสียงวัตถุระเบิด แต่เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ยากต่อการผลักดันช้างป่า

นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1  เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน รายงานสรุปสถานการณ์ ว่า วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และเครือข่ายราษฎรเฝ้าระวังฯ ยังคงดำเนินการผลักดันช้างป่าที่ออกนอกป่าธรรมชาติ ในท้องที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะบริเวณหมู่ 2 บ้านท่าสะตือ และหมู่ที่ 3 บ้านวังอ้ายป่อง

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ใช้โดรนตรวจจับความร้อน ประกอบลำโพงบินตรวจการณ์ พบช้างโขลงจำนวนรวมประมาณ 50 ตัว (ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดน้อยจากเมื่อวาน คือ 70 ตัว) แบ่งเป็นโขลงใหญ่และโขลงย่อยรวม 4 โขลง แยกย้ายกันลงหากิน ซึ่งจากการตรวจสอบพบช้างโขลงประมาณ 7 ตัว มุ่งหน้าไปบริเวณบ่อลูกรัง พิกัด 47 P 823620N 1562295E  ห่างจากหมู่บ้านวังอ้ายป่องประมาณ 1 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบโขลงช้างป่าจำนวน 25 ตัว กำลังมุ่งหน้าข้ามลำคลองส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา พิกัด 48P 176507 N 1561463 E คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการด้วยวิธีการ ดังนี้

1.สกัดกั้นบริเวณ exits point ขอบชายป่าธรรมชาติ โดยการสุมกองไฟให้เกิดควัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานเชิงรุก เพื่อไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่

2.ใช้โดรนตรวจจับความร้อน ประกอบลำโพงบินตรวจการณ์ จำนวน 3 ลำ ทั้งนี้ เป็นการทดลองใช้เสียงในการผลักดันครั้งแรกต่อโขลงช้างป่าดังกล่าว ซึ่งโขลงช้างได้มีการตอบสนองในทิศทางที่ดี โดยได้วิ่งกลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติในที่สุด แต่ในการดำเนินการผลักดันด้วยวิธีนี้อาจได้ผลในครั้งถัดไป  เนื่องจากช้างป่าจะมีพฤติกรรมเรียนรู้ จึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการผลักดันใหม่ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ยากต่อการผลักดันช้างป่า คณะเจ้าหน้าที่จึงต้องหยุดพักหลบฝน ณ วัดวังทองวนาราม เป็นการชั่วคราว เมื่อฝนหยุดจึงจะได้ออกปฏิบัติงานเฝ้าระวังและผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้เน้นย้ำให้หลีกเลี่ยงการใช้เสียงวัตถุระเบิด เช่น พลุ ประทัดในการผลักดันช้างป่า เนื่องจากจะส่งผลให้ ช้างป่ามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว จดจำว่าเมื่อมีเสียงระเบิดแล้วตัวช้างต้องได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะนำไปสู่การที่ช้างมุ่งทำร้ายมนุษย์ในทันทีเมื่อพบเจอ   จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในระดับที่รุนแรงในอนาคตต่อไป

โดย...มานิตย์ สนับบุญ - ข่าว / ทองสุข สิงห์พิมพ์ – ภาพ / ปราจีนบุรี