องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการพระราชดำริ 3 แห่งที่จังหวัดกระบี่

องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการพระราชดำริ 3 แห่งที่จังหวัดกระบี่





Image
ad1

"พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์ องคมนตรี"ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตพื้นที่จังหวัดกระบี่ 3 โครงการ เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาชีวิตประชาชน

เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม 2568  พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9)  จำนวน 3 โครงการ มีนายอังกูร  ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนร่วมต้อนรับ

โดยในช่วงเช้า พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา โดยได้ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน โครงการก่อสร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำคลองหยา ผิวทางกว้าง 6 เมตร ยาว 6,950 เมตร พร้อมอาคารประกอบ งบประมาณ 20,941,984 บาท  ในปี 2566 กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างถนนผิวทางหินคลุก ความยาว 6,950 เมตร และในปีงบประมาณ 2568 ดำเนินการก่อสร้างผิวทางลาดยาง

โดยใช้งบปกติของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 1 และ 3  ตำบลปลายพระยา ให้มีถนนและไฟฟ้าใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง พืชผลทางการเกษตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าให้ราษฎรหมู่ที่ 1 บางส่วนด้วย  และโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2568 กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ความยาวระบบท่อส่งน้ำ 4.100 กิโลเมตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรบางส่วนใน หมู่ที่ 3 และ 12 ต.ปลายพระยา ประมาณ 200 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค

และทำการเกษตร โดยใช้งบปกติของกรมชลประทาน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนกันยายน 2568 ส่วนระยะที่ 2 ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ความยาวประมาณ 3.123 กิโลเมตร เพื่อขยายพื้นที่ส่งน้ำไปยังหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 12 ต.ปลายพระยา(บางส่วน) งบประมาณ 16 ล้านบาท ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบและจัดทำประมาณการงบประมาณแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ 

โอกาสนี้องคมนตรี ได้พบปะประชาชนและกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาบ้า ปลาตะเพียนขาว และปลาทับทิม จำนวน 50,000 ตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำลงในอ่างเก็บน้ำคลองหยา ด้วย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดินประเภท ZONE TYPE ขนาดสันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ยาว 275 เมตร และสูง 17 เมตรพร้อมระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 11,810 เมตร และระบบคลองส่งน้ำ จำนวน 2 สาย ความยาวรวม 7,310 เมตร ปริมาณน้ำเก็บกัก จำนวน 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2535 เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูฝนและฤดูแล้งสำหรับอุปโภคบริโภคของราษฎร บรรเทาอุทกภัย แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และแหล่งท่องเที่ยว มีราษฎรได้รับผลประโยชน์ประมาณ 800 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,932 ไร่

ต่อจากนั้นองคมนตรี และคณะ ได้ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอปลายพระยา กิจกรรมการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นนาข้าวในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 1 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกระบี่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อม โดยนำร่องในบริเวณพื้นที่ของนายธเนศ บุษย์เพชร ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอายุ 30 ปี จำนวน 1 ไร่ 3 งาน  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินทั้งสิ้น 88,900.- บาท ในการขับเคลื่อนโครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กิจกรรมการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นนาข้าวในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ กข 109 (หนึ่งร้อยเก้า) และข้าวหอมปทุมธานี 1

ปี 2568 สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่จะดำเนินกิจกรรมวิเคราะห์ดิน แนะนำการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยหมักและสนับสนุนให้ปลูกปอเทืองเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน พร้อมทั้งศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ จะสนับสนุนต้นกล้าข้าวและองค์ความรู้ในการทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าวไว้ใช้เอง และนำไปใช้ในการทำนาฤดูนาปี 2568/69 ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2568 โอกาสนี้องคมนตรี ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านปากน้ำ พร้อมทั้งพบปะเกษตรกรและโยนกล้าข้าวลงในแปลงนาข้าวด้วย

ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ พบปะราษฎรผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ เยี่ยมชมนิทรรศการและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำมันปาล์มแดง และเยี่ยมชมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก

สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2518 เดิมสหกรณ์นิคมข่าวลึก จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมสหกรณ์อ่าวลึก เลขที่ 1 หนุ่ที่ 3 ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ มีสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 261 คน และได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ เลขที่ 62 หมู่ที่ 3 ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา ในปี พ.ศ. 2543

ปัจจุบันสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด มีสมาชิก จำนวน 4,601 คน ทุนเรือนหุ้น 31,708,010 บาท และทุนดำเนินงาน 27,774,293.12 บาท  ในส่วนของโครงการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาคเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันได้มีโอกาสรวมกลุ่มสกัดน้ำมันปาล์มจำหน่าย

และนำผลพลอยได้ของปาล์มน้ำมันมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งทางราชการและเอกชน เพื่อพัฒนาด้านวิชาการ,ด้านกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลดำเนินการในปี 2568 ผลประกอบการธุรกิจแปรรูป มีผลกำไรตั้งแต่ เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2568 จำนวน 1,600,000 บาท

และมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบ,น้ำมันปาล์มแดง ซึ่งน้ำมันปาล์มแดงได้รับมาตรฐานอาหารและยา(อย.) และมาตรฐานฮาลาล ในปี พ.ศ. 2567 

ปัจจุบันทางสหกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกับทางวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ผลิตเวชสำอางเป็นโลชั่นทาผิว ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มแดง และในอนาคตโรงงานจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากน้ำมันปาล์มแดง เช่น อาหารเสิรม ลิปสติก และเวชสำอาง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริต่อไป 

ทั้งนี้ จังหวัดกระบี่ ได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มาปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ลดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อให้ประชาชนและชุมชน สังคมในจังหวัดกระบี่ มีคุณธรรม จริยธรรม ดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจังหวัดกระบี่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรีในพื้นที่ จำนวน 19 โครงการ

แบ่งเป็น โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 9 โครงการ โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ จำนวน 1 โครงการ  โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 โครงการ โครงการด้านการศึกษา จำนวน 2 โครงการ และ โครงการด้านการบูรณาการอื่น ๆ จำนวน 5 โครงการ