"นฤมล" คาดแนวโน้มดอกเบี้ยทยอยปรับขึ้นอีก 0.25% หากจำเป็น-สินเชื่อค้างชำระจากเหตุโควิด 2.9 ล้านคน 4.3 ล้านบัญชีค้างชำระ 4 แสนล้านบาท

"นฤมล" คาดแนวโน้มดอกเบี้ยทยอยปรับขึ้นอีก 0.25%

"นฤมล" คาดแนวโน้มดอกเบี้ยทยอยปรับขึ้นอีก 0.25% หากจำเป็น-สินเชื่อค้างชำระจากเหตุโควิด 2.9 ล้านคน 4.3 ล้านบัญชีค้างชำระ 4 แสนล้านบาท





ad1

29 ต.ค. 2565 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ข้อความระบุว่า เป็นไปตามคาด

ธนาคารกลางยุโรป(ECB) มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก +0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 1.5% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี จากที่เคยใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบต่อเนื่องมา 8 ปี จนเพิ่งมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันพุ่งไปถึง 9.9% แล้วในสหภาพยุโรป
คำกล่าวของ นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ทำให้คาดว่าน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง คาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะขึ้นอีก +0.5% หลังจากนั้นน่าจะขึ้นอีกคราวละ +0.25% จนแตะระดับสูงสุดประมาณ 2.6% ถึง 3.0% ปีหน้า
นอกจากมติขึ้นดอกเบี้ย ยังมีมติลดการชดเชยธนาคารพาณิชย์ในสหภาพยุโรป ผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับศูนย์หรือติดลบ เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เพื่อบีบให้ธนาคารพาณิชย์เร่งชำระคืนหนี้ยอดเงินกู้คงค้างที่มีอยู่ทั้งหมดรวม 2.1 ล้านล้านยูโร
ส่วนสหรัฐอเมริกา เฟดจะมีการประชุมสัปดาห์หน้า คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก +0.75% เป็น 4.00% ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 +2.6% ดีกว่าคาดที่ +2.4% QoQ
สำหรับ กนง ของไทยมีกำหนดประชุมอีกครั้งเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% หากจำเป็น
จากรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 พบว่า การไม่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างก้าวกระโดดพร้อมกับการบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้น สินเชื่อรถยนต์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับ ผลกระทบจาก COVID-19 ในภาพรวมทุกประเภทสถาบันการเงินยังเร่งตัวขึ้น สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จาก COVID-19 เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านคน 2.9 ล้านบัญชี 2 แสนล้านบาทในเดือนมกราคม 2565 เป็น 2.9 ล้านคน 4.3 ล้านบัญชี 4 แสนล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาเพียง 6 เดือน นี่คือกลุ่มลูกหนี้ที่เปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งควรได้รับการดูแลเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์ในแนวทางการแก้ไขหรือปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืดหยุ่นเฉพาะกลุ่ม และจำเป็นต้องเสริมด้วยมาตรการเฉพาะจากรัฐบาลเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและฟื้นรายได้