ศาลไต่สวน คำร้องถอนประกันตัว อานนท์ รุ้ง ปนัสยา แอมมี่ กระทำผิดเงื่อนไข กลุ่มคนเดือนตุลาให้กำลังใจ

ศาลไตสวนคำร้องถอนประกัน อานนท์ รุ้ง แอมมี่

ศาลไต่สวน คำร้องถอนประกันตัว อานนท์ รุ้ง ปนัสยา แอมมี่ กระทำผิดเงื่อนไข กลุ่มคนเดือนตุลาให้กำลังใจ





ad1

ศาลไต่สวน คำร้องถอนประกันตัว อานนท์ รุ้ง ปนัสยา แอมมี่ กระทำผิดเงื่อนไข กลุ่มคนเดือนตุลา ให้กำลังใจ  อ๋อย จาตุรนต์ ห่วงการใช้ ม.112 ทั้งสาระและการบังคับใช้ ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง  ขณะที่ อดีตอธิการ มธ. ชาญวิทย์  เศร้าใจ คนหนุ่มสาว ตื่นตัว แต่ต้องมาถูกจับกุม 

เมื่อเวลา 09.00 น.  วันที่ 3 พฤศจิกายน 63 ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว คดี ดำ อ.  287/64  
  ที่พนักงานอัยการคดีอาญา7 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราว นายอานนนท์ นำภา จำเลยที่  2   น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล  จำเลยที่ 5   และนายไชยอมร  แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอททอมบลูส์  จำเลยที่ 17 แกนนำกลุ่มราษฎร   จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และร่วมกันมั่วสุมชุมนุม เนื่องจากจำเลยทั้งสามได้ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ของศาล 


    โดยวันนี้น.ส.ปนัสยา  นายไชยอมร เดินทางมาศาล พร้อมทนายความ  และครอบครัวนาย จาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุธรรม แสงปทุม อดีต คนเดือนตุลา  พร้อมตัวแทนประมาณ 30 คน  นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ เดินทางมาให้กำลังใจ  

    ขณะที่วันนี้ ศาลอาญา ได้จัดระเบียบ การเข้า -ออกศาล อย่างเข้มงวดมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สน.พหลโยธิน และ รปภ. คอยดูแลความเรียบร้อย 

    นายจาตุรนต์ ฉายแสง  กล่าวถึง การใช้มาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันฯ ว่า มีข้อกังวลทั้งในเนื้อหาสาระและการบังคับใช้ ขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินคดี ตั้งแต่การจะกำหนดว่าใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ได้ การตั้งข้อหา การไม่ได้ประกันตัว การดำเนินคดีที่ใช้เวลายาวนานและทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งใช้ข้อหานี้กลั่นแกล้ง ทำลายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองในสังคม ไม่เป็นผลดีต่อการทำให้สถาบันฯเกิดความมั่นคง เพราะมีการแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ซึ่งทั้งกระบวนการนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องนี้จึงควรต้องมีการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย 

      นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า พวกเราที่มากันวันนี้เคยเป็นผู้ที่ถูกกระทำในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  เมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีทั้งใช้กำลังความรุนแรงปราบปราม และใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็มีการใช้กฎหมายทำนองเดียวกับ มาตรา 112 การดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับเหตุการณ์ในอดีต ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นบาดแผลของสังคม เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก นักศึกษาเยาวชนในขณะนี้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ แต่เขาต้องการเห็นสังคมที่ดีงาม วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องให้มีการหารือพูดจากัน ถ้ามีการดำเนินคดีก็ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน

เมื่อถามว่า  ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบแล้ว แต่กลับออกไปก่อความวุ่นวายซ้ำซากอีก มีความคิดเห็นอย่างบ้าง  
     นายจาตุรนต์ กล่าวว่า  การจะไม่ให้ประกันตัวนั้น มีหลักเรื่องจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ถ้าจะบอกว่าให้ประกันตัวไปแล้ว แต่กลับไปกระทำผิดซ้ำนั้น เท่ากับไปตัดสิทธิ์ว่า สิ่งที่เขาพูดหรือสิ่งที่เขาทำนั้นผิดกฎหมายไปแล้ว เงื่อนไขไม่น่าสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งตอนนี้สังคมไทยควรมีการแก้ปัญหาให้เกิดความสมดุล เป็นประโยชน์ทั้งต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองปกป้องประมุขของประเทศ ความสมดุลนี้ใช้หลักนิติธรรมและหลักที่ปฏิบัติกันในนานาอารยประเทศ และจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย


  เมื่อถามว่า มีการล่ารายชื่อขอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 มีความเห็นอย่างไร นั้น
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีพรรคการเมืองเสนอเรื่องนี้กันอยู่ คิดว่าการเสนอแก้กฎหมายไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทางออกคือให้รัฐสภาพิจารณาไปตามกระบวนการ ได้ข้อยุติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าได้ข้อยุติธรรม พรรคการเมืองหรือประชาชนยังต้องการเสนอต่อไปอีก ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรไปตัดตอน หรือไปห้ามด้วยเหตุผลว่าข้อเสนอหรือร่างข้อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

    ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เป็นความจำเป็นทางใจเมื่อลูกศิษย์ของเราได้ดำเนินการมาถึงขนาดนี้แล้ว เราจะอยู่เพิกเฉยก็เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฉะนั้นในแง่หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ผมก็ต้องการให้ทางฝ่ายตุลาการผู้พิพากษาเคารพต่อหลักการอันนี้ ซึ่งคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องนี้ 

    เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรต่อการยกเลิก กฎหมายหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเองและนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อปี 2555  เราก็ได้เสนอเรื่องนี้แล้ว โดยการรวบรวมบุคคลจากหลายอาชีพ จำนวน  2-3 หมื่นรายชื่อ  ในสมัยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูง แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราไปยื่นข้อเสนอ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการในรัฐสภาไปไกลเท่าไหร่ ไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดคิด  แม้จะมีกระแสการแก้กฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่มากเท่ากับสมัยนี้ สิ่งที่น่าดีใจ และเศร้าใจในเวลาเดียวกันที่เยาวชนคนหนุ่มสาวปัจจุบันตื่นตัวมากกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องถูกจับกุม

       ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันเดียวกันนี้ เวลา 13.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี   712 ศาลอาญา นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คดี ดำ อ. 2608/64  ที่อัยการคดีอาญาเป็น โจทก์  ฟ้องนายจตุภัทร์  บุญภัทรรักษา หรือไผ่  ดาวดิน  ที่ 1 กับพวก  18 คน    ที่นายทรงพล สนธิรักษ์ หรือยาใจ   จำเลยที่  3  กับพวก  นายนวพล  ต้นงาม     นายปวริศ  แย้มยิ่ง   และนายวชิรวิชญ์   ลิมป์ธนวงศ์   ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย