ศบค.ส่วนหน้าถกทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาโควิดระบาดชายแดนภาคใต้

ศบค.ส่วนหน้าถกทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาโควิดระบาดชายแดนภาคใต้





ad1

ปัตตานี-ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.ส่วนหน้า) ร่วมประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

         
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.ส่วนหน้า) เป็นประธานในการประชุม มีเลขาธิการ ศบ.บต. แม่ทัพภาค 4  ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานีโดยมี นายนิพันธ์  บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้า ร่วมประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด -19 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้เน้นย้ำให้ลงมาดูเรื่องการบูรณาการและประสานการทำงานของส่วนราชการในพื้นที่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันด้วยดี แต่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังในพื้นที่ยังไม่ลดลง ที่จะคลายความกังวลได้ นายกรัฐมนตรีจึงให้ ตั้งศบค.สน.เพื่อลงมาบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนที่จะต้องได้ 70% ภายในสิ่งเดือนพฤศจิกายนนี้ 

โดยวันนี้ได้มีการหารือกันภาคส่วนต่างๆ เพื่อตั้งเป้าเตรียมที่จะเปิดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างช้าภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นี้ เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และให้เศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการฟื้นฟู โดยได้ฝากให้แม่ทัพภาค 4 ได้หารือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัดว่าสามารถทำได้หรือไม่ และรายงานไปยัง ศบค.ส่วนหน้า ซึ่งหากมีความเป็นไปได้ก็จะได้กำหนดเป็นนโยบายต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนพื้นที่ 4 จชต.อย่างมาก แม้สถิติการติดเชื้อลดลงแต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตสูง ขณะเดียวกันก็ห่วงในเรื่องของเศรษฐกิจในพื้นที่  

ทั้งนี้ อยากจะย้ำให้ประชาชนได้มั่นใจว่า การบริหารสถานการณ์โควิด 19 ของ ศบค.ใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยความสำเร็จของการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ภาครัฐต้องเข้มแข็ง ภาคเอกชน ภาคผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน จะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ผู้นำศาสนาทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ทั้งการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน และการควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย