ม.ทักษิณสุดเจ๋ง!คว้าแชมป์ U2T แฮกกาธอน นวัตกรชุมชน

ม.ทักษิณสุดเจ๋ง!คว้าแชมป์ U2T แฮกกาธอน นวัตกรชุมชน





ad1

มหาวิทยาลัยทักษิณสุดเจ๋ง คว้าแชมป์ U2T แฮกกาธอน นวัตกรชุมชน จากการแข่งขันระดับชาติ ที่คัดเลือกทีมนวัตกรชุมชนจาก 965 ทีม ในโครงการ U2T ทั่วประเทศ

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า ทีม Palm Packaging นวัตกรชุมชนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับรางวัลชนะเลิศคว้าเงิน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจากรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ซึ่งชนะการประกวดกิจกรรม U2T National Hackathon 2021 การแข่งขันแฮกาธอนระดับชาติ ที่คัดเลือกทีมนวัตกรชุมชนจาก965 ทีม ในโครงการ U2T ทั่วประเทศ และคัดเลือกให้เหลือ 40 ทีม เพื่อแข่งขันในระดับประเทศ  ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ด้าน ผศ.ดร.ทวงธง ครุฑจ้อน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะที่ปรึกษา กล่าวว่า ทีม Palm Packaging มหาวิทยาลัยทักษิณซึ่งมีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นพี่เลี้ยงคว้าชัยการแข่งขัน U2T National Hackathon 2021 จากผลงานถุงกระดาษทางปาล์ม แก้ปัญหาขยะชีวมวลในสวนปาล์มภาคใต้และสร้างรายได้ให้ชุมชน 

โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน และแก้ไขปัญหาที่ตรงความต้องการของชุมชน 

ซึ่งทีม Palm Packaging ได้พัฒนาถุงกระดาษจากทางปาล์ม และใช้แสงซินโครตรอนช่วยวิเคราะห์ความแข็งแรงของถุงกระดาษ นับเป็นการช่วยชุมชนจำกัดขยะชีวมวลจากสวนปาล์ม ภายใต้โจทย์ประเด็นการพัฒนา Circular Economy การเปลี่ยนทางปาล์มเหลือทิ้ง ซึ่งเป็นขยะชีวมวล ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

โดยมีแนวคิดหลักคือการเพิ่มรายได้ การลดขยะชีวมวล และการสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทีมได้ดำเนินการพัฒนาถุงกระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติเด่น ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน และสามารถเก็บได้นานกว่า 6 เดือน อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตที่ราคาถูกกว่าถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปพร้อมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1556/2563 

นอกจากนี้ ทีม Palm Packaging ยังได้ทดลองอัดเมล็ดพืชกลุ่มบำรุงดินลงในถุงกระดาษ ทำให้เมื่อถุงกระดาษเกิดการย่อยสลายจะเกิดการงอกเป็นต้นปอเทืองภายใน 3 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ทั้งนี้ ในอนาคตทีมมีแนวคิดที่จะพัฒนาทางปาล์มน้ำมันเป็นผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษ หนังเทียม และวัสดุกันกระแทกที่สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ ซึ่งจะประสานความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยทักษิณและสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย.