มท.1 จ่อยกระดับเข้มปราบยาเสพติด เตรียมออกกฎหมายคืนปืนเถื่อน ไม่ต้องรับโทษ

มท.1 จ่อยกระดับเข้มปราบยาเสพติด

มท.1 จ่อยกระดับเข้มปราบยาเสพติด  เตรียมออกกฎหมายคืนปืนเถื่อน ไม่ต้องรับโทษ





ad1

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธ ว่า จะเข้มงวดป้องกันและปราบปรามเสพติด ตั้งแต่แหล่งผลิต กระบวนการแหล่งผลิตทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศ โดยทุกฝ่ายปกครองต้องเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง เช่น ในพื้นที่เมื่อพิสูจน์แล้วว่ามีการปล่อยปละละเลยจากเจ้าหน้าที่ก็จะบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ทั้งการให้หยุดปฎิบัติหน้าที่และการรับราชการในอนาคตต่อไป
ต้องไม่ให้ผู้เสพคนใหม่เข้ามาใน กระทรวงมหาดไทย เตรียมเอกซเรย์ แยกผู้เสพ ผู้ใช้ และคนติดยาเสพติด โดยใช้กลไกร่วมกับฝ่ายตำรวจ ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง แล้วนำคนพวกนี้เข้าสู่ระบบ ว่าจะต้องนำไปบำบัดอย่างไร ซึ่งในการบำบัด ก็ต้องแยกผู้เสพ ผู้ใช้ และผู้ติดยา เพราะบางคนเมื่อใช้ยาเสพติดนานจะมีอาการหลอน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องใช้การรักษานานเป็นปีๆ ดังนั้นจะต้องมีมาตรการและคนรับผิดชอบ เพราะคนพวกนี้ไม่สามารถบำบัดอยู่ในภาวะปกติได้
นอกจากนี้กำลังพิจารณาร่วมกับตำรวจว่า จะพิจารณาแก้กฎหมายการครอบครองยาเสพติดที่ไม่เกิน 5 เม็ด ไม่เป็นผู้เสพ ไม่ดำเนินคดี พร้อมเห็นว่า ยาเสพติดจะลดลงได้ ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมมือกัน อย่าสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จนสังคมสับสน แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าจะเข้าจับกุมทันทีหากพบมียาเสพติด โดยไม่มีการละเว้น
ส่วนในเรื่องของอาวุธปืน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปืนที่มีใบอนุญาตและปืนเถื่อน โดยมาตรการใหม่จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นพื้นฐานว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมาขออนุญาตซื้อปืน รวมถึงตรวจสอบสุขภาพจิต ซึ่งเวลาจะขออนุญาตซื้อปืนจะต้องมีใบรับรองจากแพทย์ แต่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ไม่ใช่ดูแค่ว่าสติฟั่นเฟือน วิกลจริตหรือไม่ แต่อยู่ที่ความประพฤติของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร
“การจะดูความประพฤติว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ ดูไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการหารือกันว่า จะต้องมีคนรับรอง เช่น หากเป็นข้าราชการ ต้องมีผู้บังคับบัญชารับรอง มีความประพฤติที่ไม่เป็นภัย เช่น ไม่ดื่มสุราแล้วขาดสติ หรือเป็นคนที่มีความประพฤติ มีอารมณ์ใช้ความรุนแรง ซึ่งผู้ที่จะขออนุญาตซื้อปืนรายใหม่จะดูความประพฤติด้วย” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ส่วนคนที่มีปืนไว้ในครอบครอง จะต้องทบทวนในการที่ให้มีและใช้อาวุธปืนได้ คือ มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (ป.4) ว่าจะมีการทบทวนระยะกี่ปี 3 ปี หรือ 5 ปี โดยให้คณะกรรมการไปกำหนด โดยให้มีการทบทวนความประพฤติว่าใช้ปืนได้หรือไม่ รวมถึงผู้ที่พ้นหน้าที่ไปแล้ว ปืนยังมีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็น สามารถเพิกถอนได้ แต่กรณีที่กระทำผิดจะเพิกถอนใบอนุญาตทันที
พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงระเบียบใหม่ พร้อมยกตัวอย่างว่า ให้มีอาวุธปืนได้แล้วใช้ แต่ไม่ให้พกพา สื่อมวลชนต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมด้วยว่า มีให้ใช้ ให้อยู่ที่บ้าน ป้องกันทรัพย์สิน ไม่ได้ให้พกพาเอาไปไหน ถ้าพกพาอาจจะเพิกถอนได้ เช่น ถ้าดื่มสุราแล้วนำปืนไปด้วย ก็อาจจะเพิกถอนใบอนุญาตได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาปืนที่อยู่ในระบบและปืนที่มีใบอนุญาต
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนอาวุธเถื่อนทั้งหมด จะมีการออกกฎหมายให้มีการนำอาวุธปืนมาคืน ซึ่งเคยทำมาแล้ว แต่ครั้งนี้จะให้นำมาคืน โดยไม่มีความผิดทางอาญา แต่จะไม่ให้ขึ้นทะเบียน ส่วนถ้าใครยังครอบครอง ตำรวจจะดำเนินการอย่างเข้มงวดและเอาผิดตามกฎหมาย
ส่วนที่สังคมเป็นห่วงเรื่องของตำรวจ ทหารที่ครอบครองอาวุธปืน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สังคมไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้ไปดูสถิติว่า ปืนที่มีส่วนใหญ่ที่มีการก่อเหตุ ไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ แต่เกิดจากอาวุธเถื่อนมากที่สุด ต้องไปแก้ตรงนั้น อย่าไปสร้างกระแสให้มันผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารได้บอกแล้วว่า จะมีการพิจารณาของใหม่ ผู้บังคับบัญชาต้องมีส่วนในการรับรอง แต่ถ้าคนที่มีแล้วก็ต้องมีการทบทวน เพราะบางคน เมื่ออายุระดับหนึ่ง ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
“อาจจะไปติดสุรา หรือทำธุรกิจแล้วล้มเหลว ทำให้มีอารมณ์ฉุนเฉียวกับคนในครอบครัว ก็ต้องประเมินและเพิกถอนใบอนุญาต ย้ำว่าให้มี ไม่ได้ให้พกปืน ส่วนการเพิกถอนผู้ที่มีใบอนุญาต มีขั้นตอนการทำอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคุณสมบัติไม่ควรจะมีอาวุธปืน เจ้าหน้าที่รัฐจะยึดมา โดยให้ทายาทที่มีคุณสมบัติ แต่ถ้าไม่มีจะขายทอดตลาด โดยใช้คำสั่งศาล” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำอีกว่า ไม่ต้องกังวล เพราะระเบียบใหม่จะเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ด้วย แต่อย่าไปสร้างกระแสว่า คนที่มีปืนคือเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด สำหรับการคืนปืนเถื่อนจะมีการออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ. เพราะอาวุธเถื่อนที่มีจำนวนมาก ถ้าไม่ดำเนินการ และไปเข้มงวดกับกลุ่มที่มีใบขออนุญาตถูกต้อง จะพลาดเป้าที่สำคัญ โดยการคืนปืนจะออกเป็นกฎหมาย ไม่ให้มีความผิดทางอาญา และอย่าใช้คำว่านิรโทษกรรม แต่ถ้าไม่คืน มีไว้ในครอบครองจะมีโทษหนัก