นายกฯชื่นชมเด็กไทย วันภาษาไทยแห่งชาติ ขอให้ช่วยรักษาวัฒนธรรมและภาษาไทยให้ถูกต้อง

วันภาษาไทยแห่งชาติ

นายกฯชื่นชมเด็กไทย วันภาษาไทยแห่งชาติ ขอให้ช่วยรักษาวัฒนธรรมและภาษาไทยให้ถูกต้อง





ad1

18 ก.ค. 2565  ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) และคณะผู้บริหาร เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2565 18 กรกฎาคม 2565

นายกรัฐมนตรี ชมนิทรรศการหนังสือเก่าหายาก เรื่องนามพรรณพฤกษา สัตวาภิธาน และนิติสารสาธก ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พูดคุยกับเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นด้านการพูด การอ่าน การเขียน พร้อมชมการท่องคำประพันธ์กลอนสุภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแต่งคำประพันธ์ โดยนายภูวดล ลีลาเกียรติวณิช ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ และน.ส.โชติกา แอนโก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ การขับร้องเพลงจากศิลปินผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “เพชรในเพลง” ประจำปี 2565 ได้แก่ 1) เพลงรักแท้ (แม้ไม่อาจอยู่ร่วมกัน) ขับร้องโดยน.ส.นุตประวีณ์ ข้องรอด 2) เพลงคำตอบของชีวิต ขับร้องโดยนายอนันต์ อาศัยไพรพนา และ 3) เพลงหลวงพ่อกรวยช่วยลูกที ขับร้องโดยน.ส.ลลดา ปานจันดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความชื่นชมเยาวชนไทยและศิลปิน พร้อมขอให้พัฒนาตัวเองและทำสิ่งที่ดีงามต่อไป ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 คนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการรักษาสิ่งดีงามไว้ให้คงอยู่ เพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองในทุกด้าน ซึ่งภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ ขอให้ช่วยกันรักษาต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ร่วมกันอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การปลูกฝังค่านิยมและสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของความเป็นไทย เพื่อร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย พร้อมทั้งร่วมกันถ่ายทอดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ และธำรงรักษาภาษาไทยให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป อีกทั้งเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี