'วิโรจน์' ลงพื้นที่ดูการข้ามทางม้าลาย ชี้ถนนต้องมีเทคโนโล'ยีพร้อม-สร้างค่านิยมคนใช้ถนนใหม่ ระบุ "ยอมเป็นพ่อบ้านจู้จี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน"

'วิโรจน์' ลงพื้นที่ดูการข้ามทางม้าลาย

'วิโรจน์' ลงพื้นที่ดูการข้ามทางม้าลาย ชี้ถนนต้องมีเทคโนโล'ยีพร้อม-สร้างค่านิยมคนใช้ถนนใหม่ ระบุ "ยอมเป็นพ่อบ้านจู้จี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน"





ad1

วันนี้ (24 ม.ค. 65) เวลา 08:30 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ครั้งแรกหลังพรรคเปิดตัวสู้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. บริเวณถนนพญาไท เขตพญาไท ซึ่งเกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนแพทย์หญิง โดยนายวิโรจน์ชี้แจงว่า "วันนี้ลงมาดูปัญหา มาดูโครงสร้างปัญหา มาดูว่าทางวิศวกรรมจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง"

หลังจากทดลองเดินข้ามทางม้าลายที่เกิดเหตุ นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้พฤติกรรมทุกอย่างยังคนเหมือนเดิม การเดินข้ามถนนต้องรีบวิ่งหลบรถกันอยู่ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก คันที่อยู่เลนขวาบางทีเร่งเครื่องขึ้นมา ทั้งที่มันเป็นจุดบอดบนท้องถนนที่ถ้าหากเห็นรถข้าง ๆ จอดเราต้องเอะใจ

"เราต้องชะลอไว้ก่อนไม่ใช่เหยียบคันเร่งใส่เลย แต่จะโทษนิสัยคนขับรถอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีกลไกหรือระบบเตือนใจ ตรงนี้สำคัญ" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ เน้นย้ำถึงทางแก้ไขในกรณีนี้ว่า เส้นชะลอความเร็วต้องตี ไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณต้องมี กล้องวงจรปิดต้องมี กล้องตรวจจับความเร็วต้องมี อุปกรณ์เหล่านี้ต้องมี นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การดูแลเมืองต้องใส่หัวใจไปด้วย สังคมต้องร่วมกันต่อสู้และยอมรับว่า ทางข้ามต้องปลอดภัย คนข้ามต้องปลอดภัยก่อน ไม่ว่าจะมีอาชีพใด เพศไหน แค่ไม่กี่ตารางเมตรตรงนี้ต้องปลอดภัยได้

"กทม. ต้องเป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้งความดำเนินคดีให้มีการเปรียบเทียบปรับเกิดขึ้นได้ทันที เพื่อปกป้องชีวิตทุกคน แม้เราไม่มีหน้าที่ปรับโดยตรง แต่เรารวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความได้โดยไม่ต้องรอเจ้าทุกข์ เมื่อจับและตัดแต้มเรื่อย ๆ เราสามารถสร้างค่านิยมใหม่ในการใช้รถใช้ถนนได้" นายวิโรจน์ กล่าวถึงการทำงานของ กทม. ที่ต้องการจะทำในอนาคต

ด้าน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมลงพื้นที่กับว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยระบุแนวทางแก้ไขทางวิศวกรรม 3 ข้อ ได้แก่

1. จะต้องมีการควบคุมความเร็ว ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือมีป้ายเตือน เพราะบนถนนมีจุดบอด (blind spot)

2. จะต้องมีการกวดขันวินัยจราจร โดยเสนอเป็นกฎหมายเชิงตัดแต้ม ที่ไม่ใช่การจ่ายค่าปรับอย่างในปัจจุบันที่ไม่กระทบกับคนรวย

3. วิธีแก้ไขแต่ละจุด หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาหากลไกดูตามแต่ความเหมาะสมในพื้นที่

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ทิ้งท้ายว่า "คนที่เป็นพ่อเมืองหรือพ่อบ้านต้องไม่ท้อ เราต้องเป็นเหมือนพ่อบ้านจู้จี้จุกจิก แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ว่าฯ ต้องเป็นพ่อเมืองที่เข้าใจหัวอกของทุกคน"