เมืองน่านเปิด "หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน"ปักป้ายนครเวียงศรีษะเกษ

เมืองน่านเปิด "หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน"ปักป้ายนครเวียงศรีษะเกษ





ad1

เมืองน่านเปิด "หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน" ปักป้ายนครเวียงศรีษะเกษ พญาแสนเมืองน่าน ต้นตระกูล "แสนน่าน" ตามรอยเสด็จน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์

วันนี้(24 มีนาคม 2565) ณ บ้านหนองบัว ต.ศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน นายอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย นางนิตยา นาโล รองประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันฯ นายสมชัย แสงทอง ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันภาคเหนือ นางอารีย์ คำดี เลขาประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันภาคเหนือ นายสุรยุต อินปาต๊ะ ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันจังหวัดน่าน และ ประชาชน ร่วมเปิด "หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน" ตามแนวทางของ “แรมโบ้” นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ต้องการให้ประชาชนที่อยู่ตามหมู่บ้าน และ ชนบท มาร่วมกันแสดงพลังในการเปิด“หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน” ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผู้ที่มีความจงรักต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ตามสโลแกนที่ว่า “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี อีสาน-ล้านนา-อโยธยา- อันดามัน"ทั่วทั้งประเทศไทย

นายอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "อำเภอนาน้อย" แต่เดิมเรียกว่า "เวียงศรีษะเกษ" ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำแหง อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร มีอาณาเขตรวมกับแขวงท่าปลา(อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์) เรียกว่า "น่านใต้" ขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดน่าน ในการปกครองแต่ละแขวง แบ่งการปกครองเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ละเมืองมีพ่อเมืองปกครองมีบรรดาศักดิ์เป็น พญา ท้าว แสน แคว่น และปู่หลัก พ่อเมืองแต่ละเมืองจะมีบรรดาศักดิ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าเมืองนั้น ๆ ลักษณะของเมืองเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นการรวมพื้นที่หลาย ๆ หมู่บ้าน ก็จะรวมเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งมีอาณาบริเวณใกล้เคียงกันตามลักษณะของภูมิประเทศ โดยมีพ่อเมืองเป็นผู้ดูแลปกครองมีอำนาจการปกครองและสั่งการเกือบเด็ดขาด โดยได้รับอาชญามาจากเจ้าครองนครมีศักดิ์เป็นพญา ในเขตท้องที่ "อำเภอนาน้อย" หรือ "แขวงศรีษะเกษ" แต่โบราณกาล จนมีที่มาของ "พญาแสน เมืองน่าน" ต้นตระกูล "แสนน่าน"

"เวียงศรีษะเกษ" ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านนาน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลนาน้อย เมืองงั่วหรือ "เมืองศรีษะเกษ" ในสมัยอดีต มีอาณาเขตการปกครองในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ ตำบลเชียงของ ตำบลนาน้อย บางส่วนของตำบลสถานและตำบลสันทะ นาน้อยในยุคเริ่มแรกที่เรียกว่า เมืองงั่ว ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชัดว่าชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือชนกลุ่มใด สันนิษฐานว่าเป็นชนที่มีเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับคนพื้นเมืองในล้านนา ซึ่งมีการทำมาหากิน การนุ่งห่ม วัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด ที่คล้ายกับท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคเหนือ จากหลักฐานศิลาจารึกที่วัดดอนไชย หมู่ที่ 2 ตำบลนาน้อย ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อจากเมืองงั่วมาเป็นเมืองศรีษะเกษ ในปี จ.ศ. 1241 (ปี พ.ศ. 2422) ในสมัย "เจ้ามหาชีวิต อนันตวรฤทธิเดช" เจ้าผู้ปกครองนครน่าน ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 4  "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตามตำนานได้กล่าวถึงชื่อเมืองว่า สาเหตุที่เรียกชื่อเมืองว่า "ศรีษะเกษ" นั้นมีที่มาจาก ครั้งเมื่อ เจ้าเมืองน่านได้เสด็จประพาสมายังแขวงนี้ได้เห็นสายน้ำไหลกลับทิศ คือไหลจากทิศใต้มาทิศเหนือเป็นที่น่าสังเกตและแปลกจากแขวงอื่นๆ จึงตั้งชื่อแขวงนี้ว่า "แขวงศรีษะเกษ" คำว่า "ศรีษะเกษ"  แผลงมาจากคำว่า "สังเกต" ต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นอำเภอศรีษะเกษ แต่ชื่อไปตรงกับจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของตัวอำเภอ ด้วยพื้นที่การทำการเกษตรไม่มาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเป็นผืนป่าและภูเขา จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน "...ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงทุกพระองค์ ที่ทำให้มีผืนแผ่นดินไทยมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่าพวกเรามีพระมหากษัตริย์ เราจึงเปิด หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน และประกาศกึกก้องไปทั่วทุกจังหวัดว่าพวกเราจะขออยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี ตามรอยเสด็จในหลวงจาก ร.9 ถึง ร.10 สู่ผองไทยทั่วแหล่งหล้าสืบสานรักษาต่อยอดสร้างสุขปวงประชา..."นายอานนท์ กล่าว

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน