ม.หาดใหญ่ชี้"สงครามรัสเซีย-ยูเครน"ยืดเยื้อเศรษฐกิจไทยกระทบหนัก

ม.หาดใหญ่ชี้"สงครามรัสเซีย-ยูเครน"ยืดเยื้อเศรษฐกิจไทยกระทบหนัก





ad1

สงขลา-ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2565  ระบุ “ศึกรัสเซีย-ยูเครน” กระทบทั้งพลังงาน การท่องเที่ยว รัสเซียนักท่องเที่ยวติด 1 ใน 5  หนีหายไม่กลับมาเที่ยวไทย

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2565 

พบว่าประชาชนโดยรวมเดือนมีนาคม 2565 (40.80) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (41.10)  และเดือนมกราคม (41.30) 

โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง เช่น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  

โดย ปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากความกังวลที่เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โคมิครอนที่เพิ่มขึ้นกว่าสองหมื่นคนต่อวันตลอดทั้งเดือนมีนาคม 

ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศ ที่จะแพร่ระบาดหนักเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้ชะลอลง ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก 
จึงกระทบต่อต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และต้นทุนอื่นเป็นลูกโซ่ 

ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีการทยอยปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการบริโภคที่ลดลง เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มีรายได้ที่ลดลงหรือเท่าเดิม ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาการกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ อันจะส่งผลต่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก 

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญของราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานปรับขึ้น อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก  อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะรัสเซียมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากสุด ติด 1 ใน 5 อันดับแรก นับแต่ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

“หากสถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงและยืดเยื้อต่อไป ย่อมส่งผลกระทบต่อการเดินของนักท่องเที่ยวรัสเซีย และยุโรป ที่มีจำนวนน้อยลงในการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย” 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศเพิ่มเติมโดยการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go และปรับเกณฑ์ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประทศไทยไม่ต้องแสดงการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ในช่วง 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง โดยให้ตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางถึงไทย และตรวจแบบ ATK ในวันที่ 5 ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565   

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้หลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้  

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่กำลังทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มของสินค้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการดำรงชีพของประชาชนที่มีรายต่ำถึงปานกลางเป็นอย่างมาก  เนื่องจากรายได้มีแต่ลดลงและเท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยส่วนหนึ่งได้เสนอให้ขยายโครงการคนละครึ่ง และเพิ่มวงเงินให้มากขึ้น เพื่อลดค่าครองชีพในขณะนี้  

ประชาชนส่วนหนึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ของคนในประเทศที่อยู่ในระดับที่สูง  ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งนี้ จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศ ทำให้แพทย์ประเมินว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจจะแพร่ระบาดหนักในประเทศไทยอยู่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งไม่น่าจะเกินกลางเดือนมีนาคมนี้ แต่จนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โคมิครอนกว่าสองหมื่นรายทั่วประเทศ  และมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งมีความกังวลในการปรับเปลี่ยนมาตรการรักษาตัวผู้ป่วยโควิด-19 โดยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหนักแยกกักตัว และรักษาตัวอยู่บ้าน (Home Isolation)  โดยจำนวนไม่น้อยยังขาดความเข้าใจในการดูแลตนเอง และการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่สังคม  ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ 
 
3. จากการที่ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19  ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนกิจการ โดยต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้ในการฟื้นตัวของกิจการ 

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 36.70 ตามลำดับ 

ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.70  33.50 และ 34.10 ตามลำดับ  

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.70 รองลงมา คือ ภาระหนี้สิน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคิดเป็นร้อยละ 25.40 และ 21.90 ตามลำดับ 

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่ มองว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง รองลงมา คือ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว  ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตามลำดับ.