ประเพณีรับข้าวใหม่บ้านมาตอรูซอเป็นมรดกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ประเพณีรับข้าวใหม่บ้านมาตอรูซอเป็นมรดกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ





ad1

ประเพณีรับข้าวใหม่บ้านมาตอรูซอเป็นมรดกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ท่ามกลางการุกรานของอุตสาหกรรม ทำให้นาข้าวคือ”ไข่แดง”ล้อมรอบด้วยโรงงานนับสิบ

จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตไม่เพียงเป็นดินแดนทอดสมอเรือใบของบรรดาพ่อค้าวาณิชย์ที่ต้องเผชิญคลื่นเดินทางเข้ามาค้าขายในดินแดนแห่งนี้ทั้งยุโรป ตะวันออกและตะวันตก ในนาม”ลังกาสุกะ”ที่มีดินแดนกว้างขวางยาวไกลของอณาจักรแหลมมาลายู นอกจากเป็นที่ตั้งของทำเลค้าขายของนานาชาติแล้ว ดินแดนที่นี่อุดมสมบูรณ์ด้วยธัญพืช สมุนไพร สัตว์ป่า โดยเฉพาะข้าวที่มีการปลูกเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าเกือบทุกหมู่บ้านตำบลจะมีแปลงนาข้าวกระจัดกระจ่ายเรียงยาวเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่แล้วชาวนาที่นี่นิยมปลูกนาปี หรือทำนาฤดูกาลปีละครั้ง 

เมื่อข้าวสุกต่างก็มีการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อนำข้าวเปลือกเก็บไว้ยุ้ง และจะมีการวิดน้ำในบ่อมุมแปลงนา เพื่อจับปลาเอามาแกงเลี้ยงกินทำบุญข้าวใหม่ให้กับสมาชิกในครอบครัว และเพื่อนบ้าน บ้างก็มีการแปลงข้าวเป็นขนมจีนเป็นต้น สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสุข เห็นจากรอยยิ้ม และเป็นเกราะของการสามัคคี ของคนในชุมชนอย่างปึกแผ่นจึงกลายเป็นประเพณีของชาวนาที่นี่ ที่ยังคงสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่แฝงด้วยปราชญาในการหึงห้วงพื้นนาเพราะมันคือทุนชีวิตและทุนทางสังคมที่ไม่สามารถประมาณเป็นเงินทองได้

“บ้านมาตอรูซอ” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ใน ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา ยังคงสานต่อความหวังและคำมั่นสัญญาต่อวิถีชาวนาจากบรรพบุรุษ ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาที่ล้อมรอบด้วยโรงงานนับสิบโรง ได้แต่วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาการจัดการน้ำในการทำนาและน้ำเสียจากโรงงาน ที่ไหลมาบรรจบในท้องนา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางความเจ็บปวดของชาวนาที่ยืนยัดกับการทำนาเพื่อเลี้ยงชีพและทำนาเป็นทุนในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง“เสียงระเบิดภูเขาดังทุกวันๆ กลายเป็นเสียงเตือนก่อนเวลาละหมาดยามเย็นของชาวบ้านไปแล้ว” พื้นแปลงนาที่นี่ยังคงคล้าย”ไข่แดง”ท่ามกลางโรงงานนับสิบโรงล้อมรอบ

ช่วงปลายกุมภาพันธุ์ถึงต้นมีนาคมเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาที่นี่ชายแดนใต้ ซึ่งจะมีกระจายกันไปทั่วทั้งในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  ที่ยังคงมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยรักษาอาชีพดั้งเดิมตลอดมา ปัจจุบันมีทั้งนาปี นาปรังรวมแล้วหลายพันไร่ เช่นที่ ต.บาโลย  อ. ยะหริ่ง อ.หนองจิก และอ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่มีระบบคลองส่งน้ำชลประทานเข้าถึง แต่ยังคงมีอีกมากที่มีคลองแต่น้ำไม่สามารถเข้าถึง

วิถีดั้งเดิมของชาวนาที่นี่คือ ถึงฤดูทำนาเป็นอาชีพหลัก ทำไว้ทานเองและเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน พอถึงช่วงทำสวนก็จะไปทำสวน ปลูกผัก พืชไร่ตามฤดูกาล และพบว่าที่นามีปัญหาอยู่หลายๆ แห่ง ซึ่งชาวบ้านยังมีปัญหาการจัดการน้ำ หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกรมชลประทาน แต่ชาวนายังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่นักเพราะน้ำยังมีปัญหา ปัญหาเหล่านี้สะสมมาไม่น้อบกว่า40-50 ปีมาแล้ว 

นาข้าวผื้นใหญ่ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา ทิวทัศน์สวยงาม ของบ้านมาตอรูซอ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา ก็มีปัญหาแฝงเร้นหลายประการเช่นกันทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมเข้านา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเดินของน้ำด้วยการถมที่ สร้างอ่างเก็บน้ำของราชการที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา และการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานที่ไร้ความรับผิดชอบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางน้ำตาชาวนาหลั่งท่วมอก เพราะทำได้แค่ร้องไห้ แต่ไม่รู้จะไปร้องใครได้บ้าง

  มาตอรูซอ เป็นกาษามลายูถิ่น แปลว่า ตากวาง ชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้มาจากเรื่องราวของความอุดมสมบูรณ์ในอดีต คือ หมู่บ้านนี้มีกวางลงจากเขาเข้ามาในหมู่บ้านบ่อย จนมีครั้งหนึ่ง มีกวางถูกล่าจากพรานป่าและดวงตาของกวางตกที่หมู่บ้านแห่งนี้จนได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านในเวลาต่อมา

เมื่อมีการฟื้นฟูการทำนาจากนาร้าง และการผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ในนาหลายๆ แปลงชาวบ้านหลายๆคน ท่ามกลางโรงงานรายล้อม ชาวมาตอรูซอพยายามรักษาความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการทำนากันต่อไป เมื่อพ้นฤดูนาก็ไถนาใหม่เพื่อปลูกผักระยะสั้นรอเวลาทำนาในฤดูกาลใหม่ และปลูกผักสวนครัวหรือสวนดุขงบริเวณบ้านของตนเอง

อ.อัสมา มังกรชัย นักวิจัยฯ เปิดเผยว่า ท่ามกลางโรงงานรายล้อมหลายสิบโรง  หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ บ้านมาตอรูซอ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา พยายามรักษาความเข้มแข็งของชุมชน มรดกสืบทอดจากบรรพบุรุษและความมั่นคงทางอาหารที่ตนเองมี คือ การฟื้นฟูการทำนาและการผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ

“มาตอรูซอเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต ทำนามานาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ทำให้เกิดนาแล้งและน้ำท่วม เป็นเขตพื้นที่สีม่วง ล้อมรอบด้วยโรงงานนับสิบโรงงาน ชาวบ้านยังยืนหยัดทำนา คนที่ทำนาคือคนสูงอายุ ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมือง ไม่ต้องซื้อ เป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของระบบนิเวศวิทยา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีนาแค่ 1-2 ไร่ เป็นคนรากหญ้า 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เข้ามาช่วยชาวบ้านในการฟื้นฟูนาร้าง สนับสนุนให้ชาวบ้านทำนาอินทรีย์ปลอดสารพิษโดยสมัครใจ รวมทั้งสำรวจความมั่นคงทางอาหาร ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่เพื่อกินเองในครอบครัว ไม่ใช่เพื่อขาย  เพราะชาวบ้านแต่ละรายมีที่นาแปลงเล็กเพียงไม่กี่แปลง ชาวบ้านชื่นชอบในรสชาติของข้าวท้องถิ่นที่ตนเองกินมาตั้งแต่เด็ก  จากรุ่นสู่รุ่น  ข้าวที่ชาวบ้านปลูกกินจึงไม่ได้มีขายทั่วไปในห้างร้านหรือตลาดแต่อย่างใด” 
อ.อัสมาบอกว่า พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวท้องถิ่น ได้แก่  เล็บนก  กระเฮาะ   ปาดีกุนิง  นาตู  เวาะห์ฮีแต   ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ ดั้งเดิมของพื้นที่ และมีพันธุ์อื่นใหม่ๆปน เช่น หอมกระดังงา  มือลอ (มะลิ)

“พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหายไปจากท้องถิ่นเยอะ จะมีพันธุ์ข้าวทุนนิยมเข้ามา ต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านทำได้มากกว่ากินข้าวที่ปลูกเอง เป็นข้าวอินทรีย์ที่อยู่ได้นานและสู้ท้องตลาดได้ตามแบบหมู่บ้านเล็กๆ อยากให้หน่วยงานรัฐส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ถ้าโรงงานรอบข้างปล่อยน้ำเสียลงมา มาดูแลได้มั้ย นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านอยู่ตามมีตามเกิดแบบนี้ ในบริบทปัญหาความมั่นคงและบริบทอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านไร้พลังอำนาจ เวลาที่ชาวบ้านเกิดปัญหาเดือดร้อน น้ำท่วม น้ำแล้ง โรงงานปล่อยน้ำเสีย คุณมาช่วยชาวบ้านมั้ย

ข้าวพื้นเมืองในสามจังหวัด เป็นความมั่นคงทางอาหาร มีพันธุ์ข้าวเยอะและสาบสูญไปเยอะเช่นกัน เพราะไม่ได้อยู่ในระบบของการตลาด เป็นการผลิตจากชาวบ้านที่รักในการทำนา เขาได้กินข้าวตามแบบที่บรรพบุรุษเคยทำมา มันอยู่ในความทรงจำ เป็นวิถีชีวิต รสชาตที่เขาจดจำ ถ้าพันธุ์ข้าวหายไปหมายความว่า บางส่วนของตัวตน ความทรงจำ รสชาต หายไปด้วย ปัตตานี นราธิวาส พื้นที่ทำนาของชายแดนใต้มีปัญหาคล้ายๆ กันคือ นาแล้ง  มาจากการเปลี่ยนทางน้ำโดยการก่อสร้างกีดขวาง ได้แต่ทำนาปี รอน้ำฝนอย่างเดียว”

ในการทำนาอินทรีย์ปลอดสารพิษของชุมชน โครงการจากสสส.รับซื้อส่วนหนึ่งด้วยการซื้อข้าวเปลือกกิโลละ 12 บาท จากนาอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการ “พันธุ์ข้าวที่ปลูกจะใช้พันธุ์ที่ใช้เวลาเท่าๆ กัน เพื่อได้เก็บเกี่ยวพร้อมกันในเวลา 6 เดือน บางปีได้ขายบ้าง ส่วนใหญ่คือทำนาไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อข้าวสาร ได้กินข้าวใหม่ทุกปี มีหลายพันธุ์ที่เราเก็บไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดมี กลาเฮาะ กูนิง นาตู เวาะฮีแต เล็บนก เราเก็บพันธุ์มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จะให้เป็นที่นาตลอดไป” รอกีเย๊าะ ดอเล๊าะ แกนนำกลุ่มมาตอรูซอ บอกถึงการทำนาของชุมชน 

“ที่นี่ไม่มีชลประทาน เราทำนามาก่อนมีโรงงาน ทำกันมาตลอดจากการรอน้ำฝน จนมีโรงงานนับสิบมาตั้งล้อมรอบที่นาของพวกเราทั้งโรงงานยางพารา โรงไฟฟ้า โรงไม้ โรงโม่หิน การถมดินทำถนน ปิดทางเดินน้ำ ไม่มีที่ระบายน้ำ เราอยู่ตรงกลาง ผลผลิตได้ต่ำ ผลกระทบเยอะ เมื่อถึงฤดูทำนาโรงงานจะปล่อยน้ำเสียออกมาช่วงน้ำหลาก ทำให้ไม่เป็นที่สังเกตพอเราลงนาก็จะโดนน้ำเสีย คันกันทั้งตัว ถ้าเป็นน้ำฝนอย่างเดียวที่เราลงทำนามา ไม่เคยมีการคัน อยากให้มีน้ำช่วงทำนา ให้มีร่องน้ำและที่กักน้ำ แค่นั้นก็พอ เมื่อมีน้ำเพียงพอ หลังเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะไถนาปลูกผักผสมผสานก่อนมาทำนารอบต่อไป

มีพื้นที่นาร้างอีกเยอะในต.พร่อน พยายามให้ชาวบ้านมาทำนากันให้มากที่สุด ให้รัฐเข้ามาดูแลด้วยเวลาเก็บเกี่ยว อยากให้มีโรงงานที่สามารถขายส่งข้าวได้ เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ชาวบ้านกลัวว่าถ้าทำนาเยอะ ได้ข้าวเยอะแล้วจะไปขายให้ใคร เวลาจะทำนาในแต่ละปีต้องเก็บเงินไว้ก่อน เราใช้เวลาซึ่งเป็นต้นทุนที่มาก ทำนาปีนึงได้มีเงินเก็บสักนิดก็ยังดี”
ฮาซานะ บุยาลา สมาชิกกลุ่มฯ บอกว่า การทำนามีต้นทุนตั้งแต่เริ่มด้วยค่าไถนาไร่ละ 1,200 บาท เช่นมีสองงานคือ 600 บาท จึงมีคนทำนาน้อยลง 

“เริ่มมีคนกลับมาทำจริงกันเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเพราะรัฐบาลให้ค่าประกันรายได้ไร่ละ 1,000 บาท แต่กว่าจะได้มาเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ช่วงทำนาต้องออกเองทั้งหมดก่อน ปีนี้เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็ยังรอกันอยู่ แต่ไม่เพียงพอกับค่าไถนา ค่าดำนา ค่าปุ๋ย สารพัดค่า นาที่ยังเหลืออยู่พยายามเก็บไว้ให้นานที่สุด ไม่เปลี่ยนไปเป็นสวนยาง สวนทุเรียน มังคุดหรืออื่นๆ ต้องเดินหน้าต่อไป”

“เวลาไม่มีกินให้มีข้าวสารไว้ ไม่มีกับข้าวก็ไม่เป็นไร คิดๆ แล้วก็ท้อเหมือนกันในการทำนา กว่าจะได้ข้าวมากินสักเม็ด ต้องมาเป็นชาวนาถึงจะรู้ พวกเราเป็นชาวนาธรรมดา ไม่มีใครมาสนใจในปัญหาที่มี”  

“การจัดการน้ำของที่นี่เพียงไม่ให้ท่วมโรงงาน น้ำจึงมาท่วมที่นาของชาวบ้าน” 

คือประเด็นที่ชาวบ้านมาตอรูซอฝากบอก หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ จะได้ยินหรือไม่หรือแกล่งทำเฉยต่อไป คือเรื่อง ที่ควรคิดว่า “รัฐเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านได้จริงหรือไม่ในพื้นที่ชายแดนใต้”