‘โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ การโจมตีทางการเมือง ต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง

‘โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ การโจมตีทางการเมือง ต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง





ad1

‘โบว์ ณัฏฐา’นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชี้ การโจมตีทางการเมือง ต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง โดยไม่บิดเบือน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565  ‘โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา’ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว(โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา Bow Nuttaa Mahattana) ระบุว่า

“การโจมตีทางการเมือง ต้องเคร่งครัดกับข้อเท็จจริง”

มีเรื่องหนึ่งที่อยากเขียนถึงมานานแล้วในฐานะคนที่เคลื่อนไหวกดดันและเกาะติดสถานการณ์ในช่วงนั้นจนมั่นใจว่าไม่ได้พลาดข้อเท็จจริงอะไรไป พอดีมีเคสคุณบุญจงเกิดขึ้น ประเด็นที่พูดกันว่าภูมิใจไทยเคยประกาศไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ก็ถูกพูดถึงขึ้นมาอีก จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเอาความจริงมาพูดกัน

ถ้าจำกันได้ โบว์ ณัฏฐา ในฐานะแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นหนึ่งคนที่เคลื่อนไหวเดินสายพบหัวหน้าพรรคเรียกร้องกับทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่ถูกเราสื่อสารกดดันหนักมากในช่วงก่อนฟอร์มรัฐบาล (หนักแค่ไหนลองค้นหาข่าวเก่ามาอ่านดู) ว่าอย่าไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์เพราะจะเป็นการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร เราทำทุกอย่างเต็มที่ “ก่อนฟอร์มรัฐบาล”

ทุกพรรคก็รับฟัง แต่แน่นอนว่าการตัดสินใจทางการเมืองเป็นสิทธิของแต่ละพรรคตามรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองก็ควรจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เพราะนั่นเป็นเสมือนคำโฆษณาสินค้าก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ คำโฆษณาที่ไม่ตรงกับตัวสินค้าจะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อความไว้วางใจในแบรนด์ 

ภูมิใจไทยเคยประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่? ข้อเท็จจริง คือ “ไม่เคย” 

สิ่งที่หัวหน้าพรรคเคยพูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง คือ “ผมจะไม่ยอมให้คน 250 คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกฯ ของพวกผม เป็นส่วนประกอบได้ แต่จะมาเป็นคนตัดสินใจไม่ได้” และ “ไม่ว่าเราได้รับการเลือกตั้งมาจำนวนเท่าใด สิ่งที่พรรคจะยึดถือคือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน พรรคไม่ต้องการให้เกิดปัญหารัฐบาลเสียงข้างน้อย เพียงเพื่อขอให้ได้ผู้นำประเทศก่อน เราจะเคารพกติกามารยาททางการเมือง ยืนยันพรรคจะไม่นำประเทศไทยเข้าสู่ความขัดแย้ง รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ต้องตั้งใจพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้า และผู้ที่ร่วมในรัฐบาลต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต นี่คือจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยภายหลังการเลือกตั้ง” 

นั่นคือเหตุผลที่เราไม่เคยได้เห็นคลิปคำพูดของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่พูดว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพราะเขา “ไม่เคยพูด” ตรงข้ามกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำคลิปออกมาเผยแพร่ก่อนการเลือกตั้ง ประกาศชัดว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังเมื่อพรรคมีมติกลับคำพูดของหัวหน้าพรรคที่ให้ไว้กับประชาชน คุณอภิสิทธิ์จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ส่วนพรรคจะได้รับผลทางการเมืองอย่างไรจากการกระทำในครั้งนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับผู้สนับสนุนเอง   

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าผิดหวังหรือไม่ โดยส่วนตัวสำหรับเราน่าผิดหวังแน่นอน เพราะความหวังของเราในตอนนั้นคือนายกฯ ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร สั่งสมทรัพยากรและจัดการสร้างกติกาขึ้นใหม่ แถมมีอำนาจเต็มตาม ม.44 “ในขณะจัดการเลือกตั้ง” ไม่ควรจะสามารถสืบทอดอำนาจได้ต่อไป แต่เมื่อเขาทำสำเร็จแล้ว สำหรับเราคือการ “ขึ้นกระดานใหม่” หาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันต่อไปโดยใช้กลไกที่มี 

เสียใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน แน่นอนว่ามาก อย่าลืมว่าเราได้รับคดีความและผลกระทบต่อชีวิตมากมายขนาดไหนจากการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารในยุค คสช. แต่เคารพหรือไม่กับการตัดสินใจของพรรคการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พวกเขาเองก็ไม่ได้ร่างมา ก็ยอมรับว่าต้องเคารพ และด้วยเงื่อนไขที่ในตอนนั้นยังมีอีกด่านที่ทุกพรรคจะต้องเผชิญ คือการร่วมโหวตของ 250 ส.ว. ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบริบทที่พรรคทั้งหลายต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสในการเป็นรัฐบาลและได้ผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้  กับความเสี่ยงที่ว่าทุกอย่างจะถูกคว่ำโดย ส.ว. และคสช.อาจใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเงื่อนไขในการอยู่ต่อเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (อย่าลืมว่าขณะนั้นอำนาจตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช.ก็ยังอยู่) ซึ่งการประเมินในส่วนนี้เป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองเอง 

นั่นคือเหตุผลที่ทุกวันนี้เรายังเคลื่อนไหวผ่านกลไกตาม พรบ.เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไข ม.272 “ตัดอำนาจ สว.ร่วมโหวตเลือกนายก” ด้วยหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าและการฟอร์มรัฐบาลจะเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติ ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องกังวลว่าเสียงส.ว. ที่เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภาจะมามีอิทธิพลในการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่เป็นผู้เล่นภายใต้กติกาเดียวกัน  

ที่เขียนมายาวก็เพื่อจะบอกว่า “ข้อเท็จจริง” เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง ในการสื่อสารทางการเมือง นอกจากการให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงโดยไม่บิดเบือนจะเป็นสิ่งที่แฟร์แล้ว ก็ยังทำให้เราไม่หลงลืมปัญหาที่แท้จริงไปด้วย 

จึงอยากชวนให้ทุกคนให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงกันให้มากในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน เพื่อทางออกร่วมกันในอนาคต.​