ชาวสทิงพระพลิกผืนนาปลูกสวนปาล์มน้ำมันมองราคามั่นคงกว่าข้าว

ชาวสทิงพระพลิกผืนนาปลูกสวนปาล์มน้ำมันมองราคามั่นคงกว่าข้าว





ad1

สงขลา-“ปาล์มน้ำมัน”ขาลงแล้ว แต่การลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันยังคึกคักที่คาบสมุทรสทิงพระ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกษตรกรพลิกผืนนาข้าวปลูกปาล์มน้ำมันเนื่องจากอนาคตสดใส

นายโอภาส หนูชิต เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันปาล์ม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะสถานการณ์ปาล์มน้ำมันที่ จ.พัทลุง ราคาประมาณ 7.40 บาท / กก. จากราคายืนอยู่ที่ 9 บาท และ 10 บาท / กก.อยู่ในระยะหนึ่งจากสูงสุดราคาประมาณ 12 บาท / กก. 

อย่างไรก็ตามช่วงนี้ปาล์มน้ำมันกำลังเข้าสู่ภาวะขาลง แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตการผลิตปาล์มน้ำมันกลับขยับขึ้นมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะปุ๋ยปาล์มน้ำมันบางสูตรขยับขึ้นมา 2,000 บาท / กระสอบ ขึ้นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์  

ในขณะที่ปาล์มน้ำมันราคาประกันยังอยู่ที่ 4 บาท / กก. โดยรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศปรับราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาประกันราคาประมาณ  8 บาท / กก. จากต้นทุนที่ขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ 

ซึ่งทางเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ ได้ประชุมกันและลงมติและเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เรียกร้องให้มีการประกันราคาปาล์มน้ำมันที่  7 บาท / กก. 

ด้านเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันลุ่มน้ำน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มน้ำมันขยับขึ้นที่สำคัญคือเกิดสถานการณ์โควิด 19 เช่น ผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ปิดประเทศมาตรการป้องกันโควิด 19 แล้วทำการผลักดันแรงงานต่างประเทศออก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเพราะส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากประเทศเมียนมา ฯลฯ ส่งส่งผลต่อการผลิตปาล์มน้ำมันที่ต้องชะลอตัว

แต่ความต้องการปาล์มน้ำมันยังปกติ จึงไม่พอต่อการตลาดบริโภคราคาจึงขยับสูงขึ้นมากในขณะนั้น 

ประเทศมาเลเซียทำสวนปาล์มน้ำมันแปลงขนาดใหญ่ มีตั้งแต่ 20,000 ไร่ 30,000 ไร่ 40,000 ไร่ถึง 50,000 ไร่ และจะใช้แรงงานต่างด้าวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากประเทศเมียนมา บังคลาเทศ ฯลฯ  และขณะนี้ประเทศมาเลเซีย เปิดประเทศแล้ว และการทำสวนปาล์มน้ำมันจะเข้าสู่ภาวะปกติจึงทำให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวลง 

“น้ำมันปาล์มมาเลเซียราคาถูกมาก ปัจจัยสำคัญที่หนุน คือนโยบายแจกปุ๋ยฟรีให้กับเกษตรกรทุกประเภททุกครัวเรือนซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเป็นของตนเอง จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตพืชเกษตรที่ต่ำ” 

แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า และประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ฤดูกาลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศมาเลเซียจะออกผลผลิตปริมาณมากจะออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น  ส่วนการลงทุนพัฒนาพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ ยังมีอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยเฉพาะ อ.ระโนด จ.สงจลา ประมาณปีละ  10,000 – 20,000 ไร่  โดยปรับพัฒนาจากที่นาข้าวมาเป็นสวนปาล์มน้ำมัน 

และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง จ.สงขลา  จะปลูกปาล์มน้ำมันเกือบประมาณ 20,000 ไร่ ในส่วนตรงนี้เป้าหมายนำไปแปรรูปเป็นไบโอดีเซล เป็นน้ำมันบี   7  และบี 10 

ส่วนที่ปลูกปาล์มน้ำมันขอทุนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ตั้งแต่ จ.สงขลา  สตูล พัทลุง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส ก็มีการลงทุนปลูกกปาล์มน้ำมัน โดยข้อมูลของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ใน 14 จังหวัดภาคใต้มีงบประมาณของ กยท.ปลูกยางพารา จำนวน 80,000 ไร่/ ปี  แต่ปรากฏว่าปลูกยางพาราจำนวน 40,000 ไร่ / ปี  ปลูกพืชอย่างอื่น จำนวน 40,000 ไร่ /  ปี และ จะปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 25,000 ไร่ / ปี